Mandala ศิลปะภาวนา

Mandala

Mandala หรือ Madala (มันดาลา) โดย สุดปฐพี

ผมขอออกเสียงตามสันสฤตว่า มันดาลา แทน แมนดาลา ในมิติทางศาสนา ปรัชญาและความเชื่อพุทธวัชรยาน มันดาลา คือ ศิลปะภาวนามีที่สืบสายมาจากพุทธทิเบตสร้างสรรค์งานศิลปะภายในวงกลมศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นการแสดงออกแห่งสภาวะของการรู้แจ้งอย่างถ่องแท้

พุทธมหายานสายเซน Mandala หรือ มันดาลา คือ เอ็นโซ (Enzo) วงกลมที่ตวัดปลายพู่กันเพียงช่วงลมหายใจ หมายถึง ความว่าง วัฏฏะสงสาร ปฏิจจสมุปบาท เป็นสัญลักษณ์ของการรู้แจ้ง พลัง และจักรวาล เป็นการแสดงผลแห่งการกระทำและปัจจุบันขณะ

วิชาที่ลึกซึ้งที่สุดในบรรดาภาพเขียนแบบเซน เรียกว่า เซนงะ (Zenga) เชื่อกันว่า คุณลักษณะของศิลปินจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านวิธีการวาดวงกลมเอ็นโซ คนที่มีจิตและวิญญาณที่สมบูรณ์เท่านั้นจึงจะวาดเอ็นโซที่แท้จริงได้ ศิลปินบางคนฝึกเขียนเอ็นโซทุกวัน เพื่อฝึกฝนจิตใจตนเอง

ในมิตินี้ต้องทำความเข้าใจเรื่อง ลมหมายใจและธาตุ 5 ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ เข้าใจสภาวะภายในของตนเอง

ในมิติพุทธศาสนาเถรวาท คือ การฝึกสติปัฏฐาน เป็นการปฏิบัติสมาธิเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีการตีความทางนี้เท่าไหร่นัก

ในมิติการบำบัดหรือศิลปะบำบัด เดิมมันดาลานำมาเพื่อบำบัดเด็กที่มีสภาวะสมาธิสั้น แต่ปัจจุบัน นำมาใช้ร่วมกับจิตบำบัดให้คนทุกเพศทุกวัย สร้างสมาธิ โอบอุ้ม ดูแลใจ ประคับประคอง ลดความเครียด เพื่อให้วางความคิด จดจ่อกับการวาดวงกลม การระบายสี (ตรงนี้มีการขยายต่อการฝึกตนจากอารมณ์ของสีหรือวรรณะสีในศิลปะบำบัด)

บุคคลที่นำมันดาลามาใช้ทางบำบัด คือ คาร์ล กุสทัฟ จุง ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ จุง พบว่า ภาพแมนดาลา เป็นศูนย์รวมของตัวเอง ถ้าการรับรู้ “ตน” (Self) มีความสมดุล ภาพมันดาลาจะสมมาตรกันทั้งภาพ (งานสำคัญของจุง คือ ทฤษฎีบุคลิกภาพ/MBTI/Introvert-Extrovert)

มิติการเรียนรู้มันดาลาของคาร์ล จุง มาจากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ (Sensation) การกำหนดรู้ภายในใจตนเอง (Intuition) การรู้สึก (Feeling) และการคิด (Thinking) ซึ่งควรต้องทำความเข้าใจเรื่อง สมอง คลื่น การใส่ใจในการมองเห็น ระดับจิตสำนึก-จิตใต้สำนึก เป็นต้น

: ภาพประกอบคือ มันดาลา วาดโดย คาร์ล จุง :