Third waves หรือคลื่นลูกที่ 3 กับการปรับตัว ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น นับเป็นช่วงรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นรอยต่อที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาลในทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์
ในช่วงแห่งรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น แม้จะมีนักอนาคตทำนายที่มีชื่อเสียงหลายคนมีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ชื่อเสียงและบทบาทแนวคิดของอัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) ได้รับการศึกษาและอ้างอิงอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ศาสนา และอื่นๆ โดยผ่านหนังสือคลื่นลูกที่ 3 ของเขา ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมมากกว่า 2 ทศวรรษ
อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) วางกรอบการนำเสนอออกเป็น 3 กรอบใหญ่ โดยแบ่งตามกระแสคลื่น คือ คลื่นลูกที่ 1 คลื่นลูกที่ 2 และคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งในแต่ละคลื่นจะมีรายละเอียดที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง และจะส่งผลกระทบอย่างไรทั้งต่อตัวบุคคลและสังคมโลกโดยรวม แต่ละคลื่นมีโครงสร้างและสาระสำคัญดังนี้
สังคมคลื่นลูกที่ 1 เริ่มเมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อนคริสต์ศตกาล เป็นสังคมเกษตรกรรม ที่เกิดขึ้นไล่หลังกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ ตกปลก ระบบเกษตรกรรมจึงเป็นการปฏิวัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ก่อให้เกิดวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจที่มีแผ่นดินเป็นฐานสำคัญ เศรษฐกิจมีลักษณะของการกระจาย แต่ละชุมชนผลิตสิ่งของขึ้นใช้ตามความต้องการและความจำเป็นของตน
การผลิตในสังคมคลื่นลูกที่ 1 นี้จึงเป็นการผลิตเพื่อการยังชีพเลี้ยงตัวเอง นอกจากนี้แล้วระบบความเชื่อของมนุษย์ในสังคมคลื่นลูกที่ 1 นี้ ยังมีลักษณะการพึ่งพิงธรรมชาติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคติความเชื่อในการพึ่งผืนแผ่นดิน ผืนน้ำ ฟ้า เป็นต้น ความเป็นอยู่โดยรวมของมนุษย์ในสังคมคลื่นลูกที่ 1 จึงเป็นสังคมที่พึ่งพาธรรมชาติและการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรม
คลื่นลูกที่ 2 ในราว ค.ศ.1650-1750 อารยธรรมของมนุษย์ที่พึ่งพาการเกษตรได้เริ่มเปลี่ยนไปด้วยพลังของคลื่นลูกใหม่ที่มีพลังมากกว่า ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าผู้นำ ในสังคมคลื่นลูกที่ 2 นี้ได้แบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็น 2 ด้าน คือ ภาคผู้ผลิต และผู้บริโภค ระบบการตลาดได้ดึงประชาชนเข้าสู่ระบบการเงิน ความมั่นคงและความสำเร็จในสังคมคลื่นลูกที่ 2 นี้ ถูกวัดจากความเจริญเติบโตของระบบการตลาด โดยมีสิ่งที่ขับเคลื่อนสำคัญคือ พลังงาน
หลักหรือธรรมนูญในการควบคุมพฤติกรรมของสังคมคลื่นลูกที่ 2 นี้ ที่สำคัญมี 6 ประการ คือ (1) การวางมาตรฐาน (Standardization) (2) ความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization) (3) การสร้างความพร้อมเพรียงกัน (Synchronization (4) การรวมหน่วย (Concentration) (5) การสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximization) (6) การรวมศูนย์ (Centralization) ระบบต่างๆ เหล่านี้ มิได้ครอบคลุมเฉพาะระบบโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังได้ครอบงำวิถีชีวิตของมนุษย์อีกด้วย
คลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมจากสังคมอุตสาหกรรมทั่วไป มาสู่ยุคอุตสาหกรรมแห่งเทคโนโลยี สิ่งที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมันสมองของมนุษย์ โดยจะเป็นทั้งแหล่งข้อมูล มีบทบาทสำคัญในการช่วยขยายอินทรีย์ของมนุษย์ให้กว้างออกไป ลักษณะครอบครัวของมนุษย์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือการเป็นพลเมืองคนโสด รวมทั้งครอบครัวรูปแบบใหม่ๆ ที่สังคมในคลื่นลูกเดิมไม่ได้คุ้นเคย โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการร้อยรัดผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน
ธรรมนูญหรือหลักใหญ่ของสังคมคลื่นลูกที่ 3 ได้แก่ การกระจาย (Decentralization) เกิดการย่อยแยกที่ครอบคลุมไปทั่ว องค์กรต้องปรับตัวสู่การบังคับบัญชาจากหลายสาย แทนการควบคุมแนวดิ่งจากส่วนกลาง ผู้บริหารระดับสูงลดจำนวนลง การจัดองค์กรมีลักษณะเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน ความก้าวหน้าของมนุษยชาติในยุคนี้ผ่านเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ โดยการผลักดันมนุษย์ให้เข้าหาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ในทางการเมืองระดับโลก รัฐ ของแต่ละประเทศได้ถูกลดความสำคัญลงไป
กลุ่มที่มีอิทธิพลมาก คือ บรรดาบริษัทหรือบรรษัทข้ามชาติ อิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ระบบโลกจะมีลักษณะเป็นแบบเมทริกส์(matrix) ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยๆ จำนวนมากเชื่อมโยงกัน เป็นระบบเปิด คนยุคคลื่นลูกที่ 3 เป็นคนที่มีความซับซ้อน มีความเป็นตัวของตัวเองและเป็นแรงงานที่ไม่เป็นมวลชน เป็นสังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มน้อย แทนที่จะเป็นเสียงข้างมากในระบบประชาธิปไตยแบบคลื่นลูกที่ 2 และพลเมืองจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมทั้ง 3 คลื่นนี้ ถือได้ว่า เป็นผลสืบเนื่องแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผ่านแต่ละคลื่น ดังนั้น ในหลายๆ แห่งก็ไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นสังคมคลื่นลูกที่ 1 สู่สังคมคลื่นที่ 2 และสู่สังคมคลื่นลูกที่ 3 เสมอไป ดังจะเห็นได้ว่า สังคมในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะเป็นสังคมแห่งการผสมผสานกันทั้ง 3 คลื่น ลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและระบบอื่นๆ ในสังคม จึงเป็นสังคมที่มีลักษณะการผสมผสานกันอยู่เป็นอย่างมาก
เมื่อศึกษาทำความเข้าใจจากแนวคิดของ ย่อมจะทำให้เราเองในฐานะผู้อิงอาศัยบนโลกใบนี้ที่มีความเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม มีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคลื่นที่ถาโถมเราเข้ามา รับรู้ว่า ตนเอง ธุรกิจ งานจะต้องมีความปรับตัว (Adaptability) ไปในทิศทางใด อย่างไร