รู้ก่อนทำ Dialogue Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา หมายถึง การสื่อสารภายในองค์กรที่มีลักษณะของการเปิดประเด็นสนทนาโดยกลุ่มคน เกิดเป็นวงสนทนาที่กำหนดกฎ กติกา มารยาทในการสนทนาไว้ เพื่อสร้างกระบวนการคิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีบทสรุป เหมาะสำหรับการพัฒนากระบวนการคิด เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับที่หยั่งลึก ทำให้มีการไหลของความหมายที่เรียกว่า Meaning Flow ตกผลึกจนเกิดเป็นชุดความรู้ใหม่ในตัวคนหรือกลุ่มคนที่ลุ่มลึกกว่าชุดความรู้เดิมที่เคยมี ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า Dialogue คือ เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาองค์กรในระยะยาว ดังนั้น จึงไม่ควรเริ่มต้นด้วยการหวังผลในระยะสั้น เพราะผลผลิตของสุนทรียสนทนาจะค่อยๆปรากฏชัดขึ้นๆ จนกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
องค์ประกอบสุนทรียสนทนา
สุนทรียสนทนา เน้นการฟังมากกว่าพูด โดยอาจารย์มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สุนทรียสนทนา กรุณาให้คำอธิบายว่า สุนทรียสนทนา ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ ฟัง ไตร่ตรอง ซักถาม และนำเสนอความคิด ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญและให้เวลามากที่สุด คือ ฟัง และต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ “ฟังให้ได้ยิน” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deep Listening โดยเทคนิคของการฟังแบบนี้ต้องมีสมาธิตลอดระยะเวลาที่ฟัง วางชุดความรู้ของตัวเองที่เคยมีเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังฟังลง เปิดใจฟังอย่างเต็มที่ ฟังแล้วคิด ไตร่ตรอง ซักถาม จนเต็มอิ่มและตกผลึกเป็นชุดความรู้ใหม่ ที่อาจารย์ใช้คำว่า Reframe แล้ว จึงค่อยพูดให้คนอื่นฟัง ด้วยน้ำเสียงที่เรียบ แต่ทุกคำพูดเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่สรุปว่า คำพูดของใครผิด ถูก ดี ไม่ดี แต่สรุปด้วยเวลาที่ตกลงกันไว้ก่อนที่จะเริ่มวงสุนทรียสนทนา หากประเด็นใดยังคงอยู่ในความสนใจ สามารถเปิดวงสุนทรียสนทนาใหม่ได้ ไม่จำกัดครั้ง
ประเด็นสร้างสรรค์ องค์กรสร้างสรรค์
ประเด็นที่เราเปิดวงสุนทรียสนทนาเป็นเรื่องอะไร ใช้เวลานานเท่าไหร่ กลุ่มควรร่วมกันกำหนดเองจากประเด็นที่สนใจ โดยเฉพาะเรื่องงาน กำหนดกว้างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่กว้างขวาง และลึกลงไปในเรื่องที่ทุกคนสนใจได้มากเท่าที่จะมีการไหลของความหมายได้ ในเวลาที่กำหนด ข้อเสนอแนะจากอาจารย์สุดปฐพี เวียงสี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญกระบวนการสุนทรียสนทนา ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเด็นที่เราเปิดวงสุนทรียสนทนาควรเป็นประเด็นที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นประเด็นเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เช่น เทคนิคการบริการที่เป็นเลิศ ไม่ควรเปิดประเด็นเชิงลบ เช่น ปัญหาในการบริการของพนักงานในองค์กร เพราะนอกจากจะนำมาซึ่งความคิดเห็นที่แตกแยก แตกต่างแล้ว ยังไม่นำไปสู่การร่วมมือร่วมกันใจสร้างสรรค์องค์กรให้เจริญเติบโตร่วมกันได้อีกด้วย
ไม่จำกัดแค่สุนทรียสนทนา
หากมีประเด็นที่ต้องการสรุป หรือตัดสินใจดำเนินการใดๆ อาจใช้วิธีพูดคุย หรือประชุมตกลงกันในแบบอื่นๆ ร่วมด้วยได้
สุนทรียะ ไม่แยกคนไม่แยกงาน
ข้อดีที่น่าทึ่งของสุนทรียสนทนา คือ สุนทรียสนทนาเป็นการพัฒนาที่ไม่แยกงานออกจากคน แต่ทำไปพร้อมๆกัน โดยเชื่อว่า เมื่อคนพัฒนางานและองค์กรจะพัฒนาตามเป็น Self Organize คือ องค์กรสามารถทำงานเองโดยอัตโนมัติ และพัฒนาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด
สุนทรียะสนทนากติกาพื้นฐานที่ต้องกำหนด
หลักสำคัญของกระบวนการสุนทรียสนทนาที่ทุกคนควร/ต้องยึดถือร่วมกัน เป็นกติกาพื้นฐาน คือ
– ไม่เปิดเสียงโทรศัพท์มือถือขณะอยู่ในวงสนทนา
– ไม่มีจุดมุ่งหมายในการหาข้อสรุป หรือแก้ปัญหาเรื่องใด เรื่องหนึ่งร่วมกัน
– เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอความคิดโดยเท่าเทียมกัน ในลักษณะของการเปิดพื้นที่ให้มีอที่ว่าง สำหรับทุกคน
– ไม่พูดนอกประเด็น พูดแทรกระหว่างคนอื่นพูดยังไม่จบ
– ไม่ตัดสิน ไม่สรุป
– ดำรงความเงียบไว้ได้ ตราบที่ทุกคนยังอยู่ในกระบวนการไตร่ตรอง และวางสมมุติฐานของตนเอง
สรุปว่า การที่วงสนทนาธรรมดาวงหนึ่งจะกลายเป็นวงสุนทรียสนทนาได้ ต้องพิจารณาจากการเกิดการไหลของความหมาย หรือ Meaning Flow เป็นหลัก โดยการไหลของความหมาย คือ การที่ทุกคนพูดในประเด็นเดียวกัน ต่อเนื่องกัน จนเกิดความหมายที่ลึกซึ้ง และการจะเกิดการไหลของความหมายได้ มีเทคนิคอยู่ที่การใช้สมาธิในการฟังอย่างเต็มที่ ไม่กังวลและเตรียมคำพูดสำหรับตัวเองในคราวต้องนำเสนอความคิด โดยให้เชื่อมั่นว่า ทำแบบนี้แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องนำเสนอได้และนำเสนอได้ดีด้วย หากทำสำเร็จ ผลพวงที่สำคัญ คือ สมาธิ ปัญญา และการบรรลุถึงการปล่อยวาง
กลุ่มคนที่เหมาะร่วมวงสุนทรียสนทนา อยู่ระหว่าง 10-50 คน ถ้ากลุ่มใหญ่เกินไปอาจใช้เวลานานมาก กลุ่มเล็กเกินไป ในระยะแรกๆ ความหมายอาจไม่ลื่นไหล
เรามารู้จัก “สุนทรียสนทนา” กันให้มากกว่านี้ดีกว่า จากการเรียบเรียงโดย ศรีสุดา คล้ายคล่องจิตร
Dialogue มาจาก ภาษากรีกว่า “Dialogos” โดยคำว่า Logos หมายถึง คำ (The word) หรือ “ความหมายของคำ” และคำว่า “dia” หมายถึง “ทะลุปรุโปร่ง” ไม่ได้หมายความว่า “สอง” ดังนั้น การสนทนาจึงสามารถเกิดได้จากการกระทำของคนหลายคนไม่ใช่แค่สองคน บางครั้งแม้มีเพียงคนเดียวก็สามารถทำได้ หากแม้เราตั้งใจที่จะฟังเสียงของตนเองที่เปล่งออกมาการสนทนาแบบ Dialogue เป็นการรับฟังวิธีคิด วิธีการให้คุณค่า ความหมายของคนอื่นต่อสิ่งที่พูด เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ละทิ้งสิ่งที่แต่ละคนยึดถือ เพื่อผ่าข้ามพรมแดนแห่งตัวตนไปพร้อมๆกันด้วยเหตุที่มนุษย์มีความสามารถเฉพาะของอวัยวะรับสัมผัสที่แตกต่างจากสิ่งมี ชีวิตอื่นๆ ความสามารถของตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง ของมนุษย์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การที่มนุษย์มี “ใจ” หรือ “สัมผัสที่หก” ทำให้มนุษย์สามารถสัมผัสสิ่งรอบตัวได้ละเอียดลึกซึ้งกว่าสิ่งมีชีวิตแบบอื่นๆ
แนวคิดและหลักการเบื้องต้นของ Dialogue
หลักการของ Dialogue คือ การพูดคุยกันโดยไม่มีหัวข้อ หรือวาระที่ตายตัวล่วงหน้า ไม่มีประธาน ไม่เหมือนการประชุมอย่างมีเป้าหมาย เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน คนในวงสนทนาสามารถพูดอะไรก็ได้ ถามอะไรก็ได้ ส่วนคนอื่นๆ จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้
รู้ก่อนทำ Dialogue การเข้าไปในวง Dialogue ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อบรรยากาศของความสงบ ปล่อยอารมณ์ให้ผ่อนคลาย พูดเรื่องอะไรก็ได้ ส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการแนะนำและการตอบคำถาม เพราะคำถามที่เกิดขึ้นเป็นคำตอบในตัวของมันเอง นอกจากนี้ Dialogue ไม่อนุญาตให้มีการโต้แย้ง หรือสนับสนุน จนเกิดการปะทะกันทางความคิด
อีกประการหนึ่งคือ การฟังให้ได้ยิน โดยไม่พยายามใส่ใจว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของใคร แค่กำหนดใจให้รู้ได้ว่า เสียงที่ได้ยินคือ เสียงของกัลยาณมิตรของเราคนหนึ่งที่ปรารถนาจะได้ยินได้ฟังแต่สิ่งดีๆนอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาอาจเป็นเสียงของตนเอง เสียงของคนในวงสนทนา หรือเสียงจากธรรมชาติ อาจมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้น วาบขึ้นมาในใจ และความคิดนั้นอาจถูกนำไปใช้ในการเริ่มต้นของการทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่า ต่อตนเองและสังคมในอนาคต