สื่อสารแบบ ว.วชิรเมธี

สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤติด้านคุณธรรมและจริยธรรมอย่างรุนแรง การเปลี่ยนถ่ายทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ค่านิยมที่ดีงามของไทยเสื่อมถอย สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนได้จากพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือสำคัญของการแก้ไขปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคม คือ ศาสนา เพราะแก่นแท้ของทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม หากแต่ปัญหาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาประการหนึ่ง คือ การขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ได้อย่างมีประสิทธิผล จนปีพุทธศักราช 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการธรรมะขึ้น เมื่อมีพระสงฆ์ผู้มุ่งมั่นในอุดมการณ์ตั้งใจถ่ายทอดเผยแผ่ธรรมะอันประเสริฐสู่ชาวพุทธได้ปฏิวัติวงการศาสนาให้มีความแปลกใหม่ชวนติดตาม โดยไม่ยึดติดกับแนวปฏิบัติเดิมของพระนักเผยแผ่ในอดีต ทำให้เกิดกระแสนิยมศึกษาธรรมะ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม พระนักเผยแผ่ท่านนั้น คือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี นามเดิม วุฒิชัย บุญถึง อายุ 42 ปี พรรษาที่ 28 ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านครึ่งใต้ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เริ่มต้นการทำงานจากการเขียนหนังสือ บรรยายธรรมะจนได้รับรางวัลเกียรติคุณต่างๆมากมายจากหน่วยงานองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีมีจุดแข็งทั้งภูมิรู้และภูมิธรรมโดยท่านสำเร็จการศึกษาระดับสูงทั้งทางโลกและทางธรรม ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ ทั้งยังเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุยังน้อย มีเทคนิคและกลวิธีการสื่อสารที่ดี ใช้ภาษาในการสื่อสารร่วมสมัย เข้าใจง่าย เป็นตัวอย่างที่ดี มีโอกาสเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมไทยและสังคมโลก อุปสรรคสำคัญของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี คือ เวลา เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนนิมนต์บรรยายธรรมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไม่ค่อยมีเวลาในการพัฒนาตนเอง

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีกำหนดวิสัยทัศน์ในการเผยแผ่ธรรมะ คือ มุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านภาวนาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ และตั้งใจทำงานพัฒนาชุมชนเพื่อแสวงหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ จังหวัดเชียงรายเป็นฐาน ส่วนบทบาทหน้าที่ด้านพระสงฆ์ของท่าน คือ หน้าที่ในการศึกษาธรรม หน้าที่ในการรักษาธรรม หน้าที่ในการปฏิบัติธรรมและหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม กำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเผยแผ่ธรรมะ จำนวน 3 ข้อ คือ 1) เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ชาวโลก 2) ส่งเสริมให้เกิดการประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ทุกเมื่อ และ 3) การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเผยแผ่ธรรมะ ได้แก่ เข้าใกล้ เข้าใจ และเข้าถึงโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1  กลุ่มเด็กและเยาวชน กลยุทธ์การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเผยแผ่ธรรมะ คือ เข้าใกล้ โดยใช้ธรรมะเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สร้างกำลังใจในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เข้าใจพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ใช้สื่อเฟสบุ๊คส์ กิจกรรมการบรรยายธรรมะ กิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน เข้าใจ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบอุปมาอุปไมย ใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย ด้วยการทำให้ธรรมะเป็นเรื่องง่าย ไม่ใช้ภาษาบาลี อ้างอิงบุคคลที่กลุ่มเด็กและเยาวชนรู้จักสนใจ เรื่องราวอ้างอิงนิทานชาดกหรือพุทธประวัติ เข้าถึง โดยการเป็นผู้นำเสนอ นำการบรรยายด้วยตนเอง

กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนทำงาน กลยุทธ์การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเผยแผ่ธรรมะ คือ เข้าใกล้ โดยปรับเปลี่ยนธรรมะให้ทันสมัยเพื่อให้แนวทางการดำเนินชีวิต การทำงาน การสร้างความสมดุลชีวิต การครองตน ครองคน ครองงาน ใช้สื่อดิจิทัล คือ สื่อเฟสบุ๊คส์ ทวิตเตอร์ ยูทูป และซีดีธรรมะ เข้าใจ โดยนำเสนอธรรมะเป็นหลัก อ้างอิงบุคคลที่เชื่อถือได้ ใช้วิธีการอุปมาอุปไมยและประสบการณ์เสี้ยวหนึ่งของชีวิตบุคคลต่างๆด้วยเนื้อหาที่ชัดเจน เฉียบคม เข้าใจง่ายไม่ใช้ภาษาบาลี อ้างอิงบุคคลสำคัญและพุทธวจนะและเร่งเร้าให้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสุขแก่ตน เข้าถึง โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีและอ้างอิงตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ

กลุ่มที่ 3  กลุ่มผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม กลยุทธ์การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเผยแผ่ธรรมะ คือ เข้าใกล้ โดยปรับเปลี่ยนความคิดว่า นิพพานสามารถทำได้ในชาตินี้ สร้างกำลังใจให้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนได้อย่างลึกซึ้ง ใช้สื่อดิจิทัล คือ สื่อเฟสบุ๊คส์ สื่อเครือข่ายกิจกรรมอบรมภาวนาและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เข้าใจ โดยใช้ธรรมะเป็นหลัก การอ้างอิงบุคคลที่เชื่อถือได้ ใช้อุปมาอุปไมยที่ลึกซึ้ง มีผู้ที่มีชื่อเสียงร่วมและนำการสาธิตด้วยเนื้อหาที่ชัดเจน เฉียบคม อ้างอิงจากพระไตรปิฎก เข้าถึง โดยการเป็นผู้นำการปฏิบัติภาวนา ณ มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ จังหวัดเชียงราย

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีเป็นหนึ่งในพระสงฆ์ผู้จุดประกายให้คนไทยสนใจใฝ่ธรรมะมากขึ้น นำธรรมะเข้าสู่จิตใจของผู้คนในทุกระดับได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากแต่ภัยจากลัทธิความเชื่อ และอำนาจทุนยังคงปรากฏมีให้เห็นอยู่ในสังคม เช่น การบิดเบือนคำสอนทางศาสนา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นดั่งแรงลมที่พัดเปลวเทียนเล่มน้อยที่โชติช่วงท่ามกลางความมืดบอดของสังคมให้ไหววาบแทบจะดับลง นี่เป็นความท้าทายหนึ่งที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีจะต้องเผชิญเดินต่อไปท่ามกลางอวิชชาในสังคมไทย