The Third wave

The Third wave

          The Third wave หรือคลื่นลูกที่สาม มาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น นับเป็นช่วงรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นรอยต่อที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาลในทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์

          ในช่วงแห่งรอยต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น นักอนาคตทำนายที่มีชื่อเสียง มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) ผลงานแนวคิดของเขาได้รับการศึกษาและอ้างอิงอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ โดยผ่านหนังสือคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปี 1928 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อปี 1949 เป็นนักทำนายอนาคต (Futurist) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง นิตยสาร Time ให้เกียรติยกย่องว่า เป็นนักทำนายเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่น่าจะเกิดในอนาคตได้แม่นยำเกือบทั้งหมด

          ทอฟฟเลอร์มีผลงานจำนวนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่า มีคุณค่าระดับดีเยี่ยมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เช่น Future Shock, The Third Wave และ Creating a New Civilization นอกจากนี้ ทอฟฟเลอร์ยังมีผลงานที่สำคัญๆ อีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น Power-shift Previews, Premises และ War and Anti-War เป็นต้น และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษา ได้บัญญัติศัพท์สำคัญๆ ที่ได้รับการกล่าวขานถึงและมีอิทธิพลต่อสังคมยุคปัจจุบันหลายคำ เช่น คำว่า Future Shock Electronic Cottage Demassification Overchoice และที่สำคัญที่สุดคือคำว่า Globalization

          อิทธิพลความคิดของทอฟฟเลอร์ได้รับการอ้างอิงจากทำเนียบขาวจนถึงเครมลิน รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้คำชี้แนะของเขาค้นหาวิธีการเตรียมตัวรับมือกับโลกอนาคต เทด เทอร์เนอ์ แห่ง CNN ได้ยกย่องทุกหนทุกแห่งที่พูดว่า ทอฟฟเลอร์ คือ ต้นแบบแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นวิธีนำเสนอการรายงานข่าวผ่านระบบเคเบิลทีวิ

          หนังสือของเขาได้รับรางวัลหลายครั้ง รางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่นมูลนิธิ McKinsey สำหรับผู้มีผลงานด้านวรรณคดีสาขาการจัดการและรางวัลเกียรติยศสูงสุดแห่งฝรั่งเศส Prix du Meilleru Livre Étranger นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสมาคมชาวอเมริกันเพื่อวิทยาศาสตร์ชั้นสูง โดยเขาได้สอนประจำที่มหาวิทยาลัย Cornell และ New School for Social Research ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว บรรณาธิการนิตยสาร Fortune และเป็นที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำต่างๆ

          และเมื่อกล่าวถึงหนังสือทำนายอนาคตโลกที่ทรงพลังมากที่สุด คือ หนังสือคลื่นลูกที่ 3 สรุปสิ่งที่อัลวิน ทอฟฟเลอร์ (Alvin Toffler) อธิบายไว้ได้ดังนี้

          คลื่นลูกที่ 1 เริ่มเมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อนคริสต์ศตกาล เป็นสังคมเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นไล่หลังกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ ตกปลก ระบบเกษตรกรรมจึงเป็นการปฏิวัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ก่อให้เกิดวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจที่มีแผ่นดินเป็นฐานสำคัญ เศรษฐกิจมีลักษณะของการกระจาย แต่ละชุมชนผลิตสิ่งของขึ้นใช้ตามความต้องการและความจำเป็นของตน การผลิตในสังคมคลื่นลูกที่ 1 จึงเป็นการผลิตเพื่อการยังชีพเลี้ยงตัวเอง นอกจากนี้ ระบบความเชื่อของมนุษย์ในสังคมคลื่นลูกที่ 1 ยังมีลักษณะการพึ่งพิงธรรมชาติอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคติความเชื่อในการพึ่งผืนแผ่นดิน ผืนน้ำ ฟ้า เป็นต้น ความเป็นอยู่โดยรวมของมนุษย์ในสังคมคลื่นลูกที่ 1 จึงเป็นสังคมที่พึ่งพาธรรมชาติและการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรม

          คลื่นลูกที่ 2 ในราวค.ศ. 1650-1750 อารยธรรมของมนุษย์ที่พึ่งพาการเกษตรเริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วยพลังของคลื่นลูกใหม่ที่มีพลังมากกว่า ทั้งนี้เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าผู้นำ ในสังคมคลื่นลูกที่ 2 นี้ได้แบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็น 2 ด้าน คือ ภาคผู้ผลิตและผู้บริโภค ระบบการตลาดดึงประชาชนเข้าสู่ระบบการเงิน ความมั่นคงและความสำเร็จ ในสังคมคลื่นลูกที่ 2 จึงถูกวัดจากความเจริญเติบโตของระบบการตลาดด้วยสิ่งที่ขับเคลื่อนสำคัญ คือ พลังงาน

          หลักหรือธรรมนูญสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมของสังคมคลื่นลูกที่ 2 มี 6 ประการ คือ การวางมาตรฐาน (Standardization) ความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization) การสร้างความพร้อมเพรียงกัน (Synchronization) การรวมหน่วย (Concentration) การสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximization) และการรวมศูนย์ (Centralization) ระบบต่างๆ เหล่านี้ มิได้ครอบคลุมเฉพาะระบบโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังครอบงำวิถีชีวิตของมนุษย์อีกด้วย

          คลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมจากสังคมอุตสาหกรรมทั่วไปมาสู่ยุคอุตสาหกรรมแห่งเทคโนโลยี สิ่งที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมันสมองของมนุษย์ โดยจะเป็นทั้งแหล่งข้อมูล กลไกลการผลิต เครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น มีบทบาทสำคัญในการช่วยขยายช่องทางการรับรู้ของมนุษย์ให้กว้างออกไป ลักษณะครอบครัวของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือการเป็นพลเมืองคนโสด รวมทั้งครอบครัวรูปแบบใหม่ๆ ที่สังคมในคลื่นลูกเดิมไม่คุ้นเคย โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการร้อยรัดผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน

          ธรรมนูญหรือหลักใหญ่ของสังคมคลื่นลูกที่ ๓ ได้แก่ การกระจาย (Decentralization) เกิดการย่อยแยกที่ครอบคลุมไปทั่ว องค์กรต้องปรับตัวสู่การบังคับบัญชาจากหลายสาย แทนการควบคุมแนวดิ่งจากส่วนกลาง ผู้บริหารระดับสูงลดจำนวนลง การจัดองค์กรมีลักษณะเป็นกลุ่มย่อยที่เชื่อมโยงถึงกัน ความก้าวหน้าของมนุษยชาติในยุคนี้ผ่านเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ โดยการผลักดันมนุษย์ให้เข้าหาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

          ในทางการเมืองระดับโลก รัฐของแต่ละประเทศได้ถูกลดความสำคัญลงไป กลุ่มที่มีอิทธิพลมากคือ บรรดาบริษัทหรือบรรษัทข้ามชาติ อิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ระบบโลกมีลักษณะเป็นแบบเมทริกส์ (matrix) ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยจำนวนมากเชื่อมโยงถึงกัน เป็นระบบเปิด

          คนยุคคลื่นลูกที่ 3 เป็นคนที่มีความซับซ้อน มีความเป็นตัวของตัวเองและเป็นแรงงานที่ไม่เป็นมวลชน เป็นสังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มน้อย แทนที่จะเป็นเสียงข้างมากในระบบประชาธิปไตยแบบคลื่นลูกที่ 2 และพลเมืองจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจ

          อย่างไรก็ตาม ในสังคมทั้ง 3 คลื่นถือได้ว่า เป็นผลสืบเนื่องแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผ่านแต่ละคลื่น ดังนั้น ในหลายๆ แห่งไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากการเป็นสังคมคลื่นลูกที่ 1 สู่สังคมคลื่นที่ 2 และสู่สังคมคลื่นลูกที่ 3 เสมอไป ดังจะเห็นได้ว่า สังคมในประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะเป็นสังคมแห่งการผสมผสานกันทั้ง 3 คลื่น ลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและระบบอื่นๆ ในสังคม จึงเป็นสังคมที่มีลักษณะการผสมผสานกันอยู่เป็นอย่างมาก

การเรียนรู้แบบสุดปฐพี