9 เรื่อง SMEs ไทยต้องรู้

9 เรื่องที่ SMEs ต้องรู้เพราะโลกไม่เคยเหมือนเดิม องค์ความรู้แบบเดิม ๆ เริ่มใช้ไม่ได้ในธุรกิจใหม่ Alvin Toffler กล่าวไว้น่าคิดมากว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.” (ผู้ที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 มิใช่พวกที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่จะเป็นพวกที่ไม่เรียนรู้ ไม่สามารถเรียนลบสิ่งที่เรียนและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ)

 

  1. Thailand 4.0

Thailand 4.0 เป็นแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศออกจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการใช้นวัตกรรมมาต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิม และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่เป็นที่ต้องการในระดับโลก

ที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านเศรษฐกิจมาแล้วถึง 3 ยุคคือ Thailand 1.0 ที่เป็นสังคมผลิตภาคเกษตร 2.0 สังคมอุตสาหกรรมเบา  และ 3.0 สังคมที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมหนัก การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาสู่ยุค 3.0 ได้นั้นเป็นความโดดเด่นของเศรษฐกิจไทย แต่ 3.0 ได้พาประเทศไทยมาสู่ทางตันของการขยายรายได้ของประเทศ เพราะรายได้ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการรับจ้างผลิต และการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ทรัพยากร และแรงงานราคาถูกภายในประเทศ

Thailand 4.0 เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของประเทศ และเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ เพราะภาครัฐเป็นผู้ผลักดันนโยบายความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับแนวนโยบายสนับสนุนที่ออกมามากมาย ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสามารถใช้โอกาสนี้ในการผลักดันธุรกิจไปสู่ New Curve ใหม่ได้

 

  1. Digital Disruption

Digital Disruption หรือ ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสู่ Digital เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการก้าวเข้ามาของ Digital ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ได้สร้างผลกระทบต่อหลายธุรกิจ และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ที่ผ่านมามีหลายภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น การเกิดขึ้นของ Online และ YouTube ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจสื่อและธุรกิจโทรทัศน์ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ขณะที่อีกหลายธุรกิจต้องขายหุ้นให้กับกลุ่มนายทุนที่มีความพร้อมมากกว่า หรือผู้ประกอบการแท็กซี่และโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจาก Uber และ Airbnb

Digital Disruption จะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจอย่างแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับตัวโดยใช้ IT มาช่วยในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของดิจิทัล ซึ่งถ้าธุรกิจใดที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงจะโดนผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ Startup เข้ามาทดแทน

 

  1. Internet of Thing (IoT)

เทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจในปี 2561 จากการเกิดขึ้นของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ (Device) ใหม่ ๆ และการขออนุญาตใช้บริการ เชื่อว่าปี 2561 ภาคธุรกิจจะเริ่มใช้ IoT เป็นส่วนหนึ่งของบริการ เช่น การใช้ IoT ในกล้อง IP Camera เพื่อตรวจสอบข้อมูลจราจร และดูแลความสงบเรียบร้อยของพื้นที่หรือการใช้ IoT ในการวัดและแจ้งเตือนระดับน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น และสารอาหารในดิน เพื่อกำหนดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดตามแนวทางของ Smart Farming ได้หรือการใช้ IoT ในอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ เพื่อตรวจวัดชีพจร ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ เพื่อบ่งบอกสภาพและความพร้อมของผู้ป่วยในแต่ละช่วง เพื่อสร้างกลไกการแจ้งเตือนความผิดปกติของผู้ป่วยได้

IoT จะเป็นโอกาสที่สดใสที่สุดของผู้ประกอบการในปี 2561 ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์และความพร้อม สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ได้

นอกเหนือจากแนวโน้มที่สำคัญในปี 2561 แล้ว รูปแบบการทำธุรกิจในปี 2561 ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการเองต้องเรียนรู้และดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากดิจิทัลและผลักดันให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างแท้จริง

 

  1. ยุคแห่งการ Partnership

ปี 2561 เป็นยุคทองของความร่วมมือและการหาพันธมิตร แน่นอนว่าไม่มีธุรกิจไหนที่ไปรอดเพียงลำพัง แต่กับผู้ประกอบการ SMEs ในยุคนี้ การมีพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้ประกอบการกำลังต้องเผชิญกับสภาพธุรกิจที่โหดร้ายจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความได้เปรียบกว่าธุรกิจขนาดเล็กในแทบทุกด้าน
ทางรอดของธุรกิจที่เล็กกว่า นอกเหนือจากการอาศัยช่องว่างในตลาดแล้วคือการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งหรือ Cluster เพื่อสร้างความได้เปรียบและอำนาจต่อรองที่พอจะคานกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้

ฉะนั้น นอกเหนือจากการมุมานะสร้างธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องหมั่นเข้าสังคม เข้ากลุ่มธุรกิจ รวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจอยู่รอดได้

 

  1. โลกธุรกิจที่ปราศจากคนกลาง

เมื่อทฤษฏีคนกลางหรือ Gate keeper ของ Kurt Lewin ตายจากไปส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคมไทย การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตสามารถเชื่อมต่อกัน ติดต่อและซื้อขายกันได้โดยตรง ด้วยความได้เปรียบที่เป็นผู้เสนอราคาที่ต่ำที่สุด ขณะที่ผู้บริโภคก็พึงพอใจที่จะซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต ภายใต้บริการที่เหนือกว่าเช่น การรับรองคุณภาพ การเปลี่ยนสินค้า รวมถึงบริการหลังการขาย

ผู้ประกอบการที่เป็นคนกลางจึงเผชิญกับปัญหามากขึ้นจนหลายรายต้องหายหน้าไปจากตลาด ซึ่งการเชื่อมโยงของผู้บริโภคและผู้ผลิตนั้นเป็นผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นและจะต้องส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการจึงต้องมีแผนธุรกิจที่เหมาะสมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

  1. ปลาเล็กกินปลาใหญ่

เราคงคุ้นเคยกับสำนวนปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่นำมาใช้กับมุมธุรกิจแล้วบ่งบอกถึง ความได้เปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต่อธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งในด้านต้นทุนและขีดความสามารถเชิงธุรกิจ เช่น การกระจายสินค้า

แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังนำเสนอมุมมองที่เปลี่ยนไป Uber ผู้ให้บริการรถแท็กซี่รายใหญ่ของโลก ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่สักคัน หรือ Airbnb ที่มีบริการห้องให้เช่าเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้เป็นเจ้าของห้องเช่นกัน แต่ปัจจุบันทั้งสองรายที่กล่าวไปมีธุรกิจที่ใหญ่กว่ากลุ่มโรงแรมยักษ์ใหญ่ของโลกเสียอีก

ตัวอย่างดังกล่าวบ่งบอกถึงธุรกิจรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมมาทำธุรกิจและก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีผลต่อธุรกิจดั้งเดิม

ปัจจุบันธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายรายกำลังกังวลถึงความเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความอุ้ยอ้าย มีพนักงานเป็นจำนวนมาก มีต้นทุนธุรกิจสูง แต่สิ่งเหล่าที่เคยสร้างความได้เปรียบภายใต้การแข่งขันแบบดั้งเดิม (Traditional) นั้น กำลังเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ในยุคดิจิทัล เพราะธุรกิจเหล่านั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าธุรกิจเกิดใหม่ที่มีพนักงานไม่เกิน 20 คน มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่สำคัญของธุรกิจ ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็กกำลังจากไป ยุคปลาเล็กกินปลาใหญ่กำลังมา

 

  1. ความรู้สำคัญกว่าเงิน

ในอดีตการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องใช้เงินทุนมากเพื่อใช้ในการสร้างหน่วยการผลิตขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในชัยชนะของธุรกิจ แต่ปัจจุบันเงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวของความสำเร็จ

ปัจจุบันความรู้ดูจะเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับเงินทุน ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความแตกต่างและทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ธุรกิจที่ดีได้รับการทดสอบแล้วว่าเป็นไปได้ จะพบว่าเงินลงทุนนั้นสามารถมาได้ง่ายจากหลายวิธี ตั้งแต่วิธีพื้นฐานอย่าง Crowd funding หรือการขอสนับสนุนจากนักลงทุน เช่น Venture Capital

 

  1. Big Data

โลกปัจจุบันกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผู้คนพึ่งพิงข้อมูลในการตัดสินใจต่างๆ กระบวนการคิดของคนทั่วไปหรือแม้แต่องค์กรต่างๆ ในทุกวันนี้ส่วนใหญ่อยู่บนฐานของการรวบรวมข้อมูล ประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แต่ด้วยความที่ข้อมูลในปัจจุบันมีอยู่มากมายและกระจัดกระจาย คำถามสำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะเข้าถึงข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นและใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร จากคำถามดังกล่าวจึงทำให้คนหันมาสนใจสิ่งที่เรียกว่า Big data กันมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสสังคมในปัจจุบัน

Big data คือ ข้อมูลที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 4 อย่างคือ

  1. Volume — size ของข้อมูลมีขนาดใหญ่ มีปริมาณข้อมูลมาก ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งข้อมูลแบบ offline หรือ online
  2. Variety — ข้อมูลมีความหลากหลาย สามารถเป็นได้ทั้งที่มีโครงสร้างและข้อมูลที่ไม่สามารถจับ pattern ได้
  3. Velocity — ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว มีการส่งผ่านข้อมูลอย่างต่อเนื่องในลักษณะ streaming ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ manual มีข้อจำกัด
  4. Veracity — ข้อมูลมีความไม่ชัดเจน (untrusted, uncleaned)

 

มีหลายคนที่เกิดคำถามว่าทำไมเรื่อง big data จึงกลายเป็นกระแสในปัจจุบันเพราะ

  • Demand for better data เกิดกระแสกดดันภายใต้บริบทของการปฏิรูป สภาวะทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมใหม่ๆ
  • Supply of relevant data at scale มีการแพร่หลายและไหลเวียนของข้อมูลทั้งข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วไป
  • Technical capability มีการพัฒนาเทคนิคในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากที่ทันสมัย ทำงานง่ายขึ้นและเข้าถึงได้แพร่หลาย
  • Government catalyzing market change มีแรงส่งจากภาครัฐที่ถูกกดดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสจนกระจายไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ

 

  1. Platform

                ผู้ประกอบการจะได้ยินบริษัทหรือผู้รู้ต่างๆ พูดหรือเขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์แบบ Platform กันมากขึ้น หลายๆ บริษัทพยายามที่จะสร้าง Platform ของตนเองขึ้นมาเพื่อการเติบโต และ Platform Strategy ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตและการสร้าง Business Model ใหม่ๆ สำหรับหลายๆ องค์กร เช่น  Google, Apple, Facebook, Uber, Airbnb, Alibaba, Youtube ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้าง Platform ขึ้นมา สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำคือ พยายามสร้างระบบนิเวศน์หรือ ecosystem ที่บริษัทหรือบุคคลภายนอกนำสินค้าหรือบริการมาไว้บน Platform ที่ตนเองสร้างขึ้น

ภายใต้การศึกษาชื่อ The Rise of the Platform Enterprise: A Global Survey ได้ศึกษา Platform จำนวน 176 บริษัททั่วโลก โดยแต่ละบริษัทที่ศึกษานั้นจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจากการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้แบ่งประเภทของ Platform ที่มีอยู่ในโลกนี้ออกเป็น 4 ประเภท

ประเภทแรก Innovation platform โดยมีลักษณะเป็น Platform ที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นได้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้วนำมาวางไว้ใน Platform ของตนเอง ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ Apple iOS หรือ Google Android ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นแล้วนำมาวางไว้หรือให้ลูกค้าได้ใช้ผ่าน Platform ตนเอง

ประเภทที่สอง Transaction platform เป็นลักษณะคล้ายๆ ตลาด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันและเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการขึ้น Platform ในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ Sharing Economy ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น กรณีของ Uber หรือ Airbnb ก็เป็นเสมือนตลาดกลางที่ช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายได้มีโอกาสเจอและจับคู่กันมากขึ้น

ประเภทที่สาม Integration platform เป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทั้งแบบ innovation และ transaction platform รวมกัน เช่น Apple กับ Google เน้นนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน

ประเภทสุดท้าย Investment platform เป็นพวกบริษัทหรือนักลงทุนที่เน้นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ใช้ platform หลายๆ บริษัท เช่น Priceline Group ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและเดินทางก็เข้าไปลงทุนทั้งใน Priceline, Kayak, Open Table เป็นต้น

 

โลกของธุรกิจกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่มีอะไรเหมือนเดิม ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง ความรู้เดิมที่ผู้ประกอบการเคยมีอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว โลกกำลังหมุนไป เพียงแค่ผู้ประกอบการยืนเฉยๆ โลกจะนำพาให้ธุรกิจของผู้ประกอบการตายจากไป

เวลาจะเป็นมิตรกับเรา เมื่อเราลงมือทำ และเวลาจะเป็นศัตรูกับเรา เมื่อเราไม่ทำอะไรเลย