Outward Mindset กับ หนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1989 เป็นหนังสือด้านการบริหารธุรกิจและช่วยเหลือตนเอง เขียนโดย Stephen R. Covey นิยามประสิทธิภาพว่าเป็นความสมดุลระหว่างการได้รับผลลัพธ์ที่พึงปรารถนากับการดูแลผลิตผลเหล่านั้นและแนวคิดของ Stephen R. Covey ยังโต้แย้งกับแนวคิดจริยธรรมบุคลิกภาพ (the personality ethic) ที่กำลังแพร่หลายในหนังสือพัฒนาตนเองสมัยใหม่ Covey เชื่อว่า วิธีการเห็นโลกนั้นมีพื้นฐานมาจากการรับรู้ของตัวเราเองทั้งหมด หากต้องการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองและเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเรา
Outward Mindset คือ การฝึกให้เข้าใจมุมมองของคนอื่น แทนที่จะพุ่งเป้าแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ หัวใจสำคัญของการทำงานในชีวิตจริง คือ ความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของหมู่คณะ สิ่งที่ควรจะพุ่งเป้าไม่ใช่แค่เป้าหมายของตัวของเราเอง แต่เป็นเป้าหมายของส่วนรวม ซึ่งต้องอาศัยทั้งเวลาและการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตัวเองสอดคล้องกับส่วนที่ 2 ของหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People คือ Interdependence การพึ่งพาซึ่งกันและกันหรือ Public victory ในอุปนิสัยที่ 4-6 ประกอบด้วย
อุปนิสัยที่ 4 Think Win-Win (คิดแบบชนะ-ชนะ)
อุปนิสัยในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่แข่งขันชิงดีกัน มุ่งเน้นการฟัง ใช้เวลาในการสื่อสารกันมากขึ้นและพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา จุดประสงค์การฝึกนิสัยที่ 4 คือ การสร้างความเชื่อซึ่งกันและกัน (Interpersonal Thrust ) หากบุคคลคิดแต่เอาชนะ วันหนึ่งบุคคลนั้นย่อมต้องพ่ายแพ้ ชนะการโต้แย้งแต่สูญเสียความเป็นเพื่อน หากบุคคลปรองดองกันในมุมมอง ชนะไปด้วยกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคน ทุกฝ่ายทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ดังนั้น ควรฝึกให้บุคลากรคิดและค้นหาความต้องการสิ่งนั้นด้วยตัวเอง
อุปนิสัยที่ 5 Seek First to Understand , Then to Be Understood (เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้เขาเข้าใจเรา)
ความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นกุญแจสำคัญของหลักการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีประสิทธิผล การติดต่อสื่อสารถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดในชีวิต อุปนิสัยนี้ เป็นการฝึกการฟัง โดยพยายามให้เป็นการฟังแบบเข้าอกเข้าใจกัน หลักการสำคัญที่สุด คือ การฟัง แต่ต้องเป็นการฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น ฟังว่า คนอื่นคิดอย่างไร ไม่ใช่แค่ฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น เรียกว่าต้องเข้าใจคนอื่นกันเลย เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น
การฟัง จึงเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ทักษะการฟังที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของทักษะการเข้าสังคม สามารถลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะการฟังยังส่งผลต่อการพัฒนาในด้านสติปัญญา ในแง่ของการฝึกใช้ความคิด การจับประเด็น ฝึกความจำและฝึกฝนการจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมีสมาธิที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มักจะพบว่า ในองค์กร มีคนที่มักจะตัดสินใจหรือออกคำสั่ง โดยยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้สื่อสาร ไม่ได้เอาใจของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานมาใส่ใจของตนเองก่อนการสื่อสาร
อุปนิสัยที่ 6 Synergize (ผนึกพลังประสานความต่าง)
การผนึกพลังผสานความต่าง โดยการร่วมมือกันกับคนอื่นอย่างสร้างสรรค์ เป็นการนำข้อดีของอุปนิสัยทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกันเพื่อทำงานใหญ่ให้สำเร็จ ถ้าหากฝึกอุปนิสัยที่ 4 และ 5 มาเป็นอย่างดีจะทำให้เราสามารถผนึกพลังแนวความคิดที่แตกต่างของแต่ละคน มาช่วยกันเป็นจุดเสริม เป็นทางเลือกใหม่ ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ผลรวมทั้งปวงจะมากกว่าการเอาแต่ละส่วนประกอบมาบวกกัน เช่น การเกิด Synergize ไม่ใช้การหารือร่วมกันเพื่อเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งของแต่ละคน แต่เป็นการนำข้อดีของแนวทางของแต่ละคน มารวมกันเป็นทางเลือกใหม่ให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
คนที่จะสามารถสร้าง Synergy ได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
Communication คือ การสื่อสาร ต้องเป็นคนที่คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง สามารถที่จะสื่อภาษายากๆ ให้เป็นภาษาเข้าใจง่ายๆ ได้ เพื่อที่จะทำให้คนอื่นเห็นภาพเป้าหมาย เพื่อที่จะได้ช่วยกันสรรหาวิธีการไปสู่เป้าหมายแบบใหม่ๆ ได้ หลายๆ คนที่ไม่สามารถสร้าง Synergy ได้ สาเหตุมาจากการพูดไม่รู้เรื่อง พูดโดยใช้แต่คำศัพท์ที่เลิศหรู ภาษาเทพ ภาษาเฉพาะ ซึ่งทำให้คนในองค์กรงงเป็นไก่ตาแตก เพราะเหตุผลนี้ ใครจะมาช่วยคิดอะไรใหม่ๆ ได้ เพราะแค่เป้าหมายยังมองไม่เห็น คุยกันยังไม่รู้เรื่องแล้วจะไปหาวิธีการใหม่ๆ ไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร
Cooperation คือ การประสานและร่วมมือกัน การที่จะสร้าง Synergy ได้ คนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้า จะต้องมองเห็นจุดเด่นของทุกคนในทีมและสามารถดึงเอาจุดเด่นของแต่ละคนเข้ามาประสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดังนั้น คนที่จะสร้าง Synergy ได้ คือ จะต้องไม่มองคนแบบฉาบฉวย แต่ต้องมองให้ลึกลงไป หาต้องหาจุดดีของแต่ละคนให้เจอหรือบางคนคิดแค่เพียงว่า ถ้าใครคิดไม่เหมือนกับเรา ก็ไม่ต้องมาทำงานร่วมกัน แบบนี้ไม่ใช่คนที่จะสร้าง Synergy ได้เลย
จากมุมมองของ The 7 Habits of Highly Effective People Outward Mindset ถึง Outward Mindset หรือกรอบการคิดที่มองออกจากตนเองมีความสอดคล้อง เหมือนกันคือ การรู้จักฟัง การคิดถึงผลลัพธ์ร่วมกันโดยการเอื้ออาทรต่อกัน การสื่อสารที่เข้าอกเข้าใจกันและการลงมือทำร่วมกันอย่างเต็มที่ เต็มใจ