กรอบคิดสร้างสุขร่วมกัน หรือ Outward Mindset กรอบคิดที่ทำให้มองเห็นโลกตามความเป็นจริง และเริ่มปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าในมุมมองแบบที่เห็นบุคคลนั้นๆ เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่มีความปรารถนา เป้าหมาย และความต้องการที่จะมีความสุขที่ไม่ยิ่งหย่อนไปมากกว่าตนเอง ก่อให้เกิดพฤติกรรมความต้องการช่วยเหลือ มุ่งเน้นผลลัพธ์ และประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งยินดีช่วยเหลือทุกคนอย่างสุดความสามารถ ผลลัพธ์ คือ ความสุข ความเบิกบานในใจของตนเอง และคนรอบข้าง เพราะคนที่มี Outward Mindset จะมองเห็นความสุขอยู่รอบตัวเอง และมองเห็นคนอื่นอยู่เสมอ ด้วยความคิดที่ว่าคนอื่นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ความแตกต่างระหว่างมองตนเองกับมองผู้อื่น
ดร. เทอรี่ วอร์เนอร์ (Dr.Terry Warner) อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า มนุษย์กำหนด Mindset ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- Inward Mindset หรือ การมองที่เป้าหมายของตนเอง เป็นใหญ่ และเห็นคนอื่นเป็นแค่วัตถุสิ่งของ เป็นพาหนะสู่เป้าหมายของตนเอง เป็นอุปสรรค และสิ่งกีดกั้นการมีความสุขของตนเอง หรือแม้แต่เป็นแค่สิ่งไร้ค่า ไร้ตัวตน ไร้ซึ่งความสำคัญ
- Outward Mindset คือ การฝึกให้เข้าใจมุมมองของคนอื่น แทนที่จะพุ่งเป้าแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ หัวใจสำคัญของการทำงานในชีวิตจริง คือ ความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของหมู่คณะ สิ่งที่ควรจะพุ่งเป้า ไม่ใช่แค่เป้าหมายของตัวของเราเอง แต่เป็นเป้าหมายของส่วนรวม ซึ่งต้องอาศัยทั้งเวลา และการเรียนรู้ที่จะฝึกฝนตัวเอง
ความแตกต่างระหว่างมองตนเองกับกรอบคิดการเรียนรู้และเติบโต
The Arbinger Institute (2018; 2020) เน้นย้ำถึงการสร้างความสำคัญขององค์กรที่มองคนเป็นคน เมื่อตัวเรามองออกจากตนเองไป เราจะเริ่มรู้จักความเป็นเอกลักษณ์ ความต้องการ วัตถุประสงค์ และความท้าทายของแต่ละบุคคล เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการหลอกตนเอง เพื่อปรับพฤติกรรมบางอย่างของเรา “ทำให้ตนเองมองเห็นตนเองชัดเจนขึ้น ลดความรู้สึกขัดแย้ง ทำให้มีชีวิตชีวา ความปรารถนาในการทำงานร่วมกัน เพื่อปรับความรับผิดชอบ เพิ่มขีดความสามารถในการบรรลุผล และทำให้พอใจเกิดความสุข” ความเชื่อลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ซึ่งหากศึกษา ความแตกต่างระหว่างความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และ Outward mindset จะสามารถสรุปได้ดังนี้
- มุมมองต่างกัน กรอบความคิดเติบโต (Growth Mindset) เน้นที่ฉันมองตนเองอย่างไร แต่ Outward mindset เน้นที่ฉันมองคนอื่นอย่างไร
- จุดประสงค์ต่างกัน กรอบความคิดเติบโต (Growth Mindset) เน้นที่การเรียนรู้ และการเติบโต Outward mindset เน้นที่การใช้ชีวิต และการทำงานร่วมกัน
- เป็นไปได้หรือไม่ หากมีทั้งกรอบความคิดเติบโต (Growth Mindset) และ Outward mindset สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 มิติ
3.1 Growth + Inward mindset: I’m my own hero คนกลุ่มนี้ เชื่อว่า ตนเองสามารถเรียนรู้เติบโตได้ แต่อาจจะอยู่บนความลำบากของผู้อื่น เพราะมุ่งมั่นมาก แต่มากจนละเลยความสำคัญ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ระแวดระวังทันเห็นความต้องการของตนเองสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างอย่างไร มิตินี้เป็นแนวของการแข่งขัน
3.2 Growth + Outward mindset: The beloved coach คนกลุ่มนี้เชื่อว่า ตนเองสามารถเรียนรู้เติบโต และให้ความสำคัญกับคนรอบข้างเช่นกัน จะมีความพยายาม และนำพาหรือสนับสนุนผู้อื่นให้ไปถึงจุดหมายด้วยกัน เป็นผู้นำที่มีความสามารถ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
3.3 Fixed + Inward mindset: The gatekeeper คนกลุ่มนี้เชื่อว่า ศักยภาพนั้นมีข้อจำกัด และไม่ตระหนักว่าตนเองสร้างผลกระทบอะไรกับคนรอบข้าง มีแนวโน้มที่จะพุ่งเป้าแต่ความต้องการหรือปัญหาของตนเอง ระแวดระวังคำวิจารณ์ที่ทำให้ตนเองรู้สึกไม่ดี ขาดการเปิดใจเปิดรับต่อผู้อื่น
3.4 Fixed + Outward mindset: The happy camper คนกลุ่มนี้เชื่อว่า ศักยภาพมีข้อจำกัด และเห็นว่า ผู้อื่นมีข้อจำกัด ความต้องการ ความท้าทายไม่แตกต่างกัน มีแนวโน้มที่จะหยุดเมื่อเจอปัญหา หรืออยู่ไปเรื่อยๆ กับสถานการณ์ท้าทายที่เผชิญอยู่ พยายามเข้าใจปัญหาคนรอบข้าง แต่อาจจะไม่ได้ช่วยแนะนำ หรือชวนให้หาทางออก
แนวคิดสำคัญของ Outward Mindset เกิดจากการใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น เหมือนที่เราใส่ใจความรู้สึกของตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาจึงอยู่บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ
Arbinger สรุป Outward mindset ออกเป็น 4 ขั้นตอน เริ่มจาก รู้จักกรอบความคิดสาเหตุที่ทำให้บุคคลยึดติดกับกรอบความคิดเก่า การนำกรอบความคิดใหม่มาใช้ และส่งเสริมให้ทุกคนใช้ เริ่มต้นที่มารู้จักตัวเองกันให้มากขึ้น ผลลัพธ์ของงานใดๆ ที่บุคคลทำ เกิดจากพฤติกรรมของบุคคล และสิ่งที่ทำให้บุคคลทำแบบนั้น คือ ความคิด
วิธีที่จะช่วยให้เปลี่ยนกรอบความคิดแบบมองเข้าเป็นกรอบความคิดแบบมองออก มี 3 วิธี คือ 1) เลิกคิดถึงแต่ปัญหาที่ตัวเองเจออยู่ ทุกคนมีปัญหาแตกต่างกันไป หาวิธีที่จะช่วยกันแก้ปัญหาทั้งหมดจะดีกว่า 2) อย่าไปคิดเอาเองว่า คนอื่นต้องการสิ่งที่เราทำให้ ต้องถามเขาให้ชัดเจนว่า ต้องการให้ช่วยแบบไหนจึงจะเป็นประโยชน์กับเขามากที่สุด 3) อย่าไปกังวลเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นให้ทำงานสำเร็จจะทำให้เขาได้ผลงานมากกว่าเรา
การนำหลัก SAM มาใช้
S = See other ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของเรา เขามีปัญหาใดๆ อยู่หรือไม่ มีความต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง
A = Adjust efforts ปรับการทำงานของเราให้ส่งผลกระทบที่ดี และตรงกับความต้องการของผู้อื่น
M = Measure impact งานของเรากระทบเขาแค่ไหน งานของเขาเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนไปแค่ไหน
องค์ประกอบของกระบวนการ Outward Mindset มี 3 สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการมองคนรอบตัวด้วยความเข้าใจแบบ Outward Mindset คือ 1) การเข้าใจมุมมองของคนอื่น 2) ยอมรับการตัดสินใจของกันและกัน และ 3) ใช้วิธีการสื่อสารที่โปร่งใส ด้วยเจตนาที่ดี
ประโยชน์ของกระบวนการ Outward Mindset ส่งเสริมให้มีกรอบความคิดแบบมองออก คือ
- เริ่มทำเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ เช่น ความปลอดภัยในการทำงานจะเริ่มทำได้ง่าย เป็นต้น
- ให้สิทธิ์ความคิด การตัดสินใจที่กระตุ้นให้เกิดความมีส่วนร่วม ให้เกิดความคิดใหม่ เช่น กำหนดทีมงานจัดการเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น
- ไม่แบ่งแยกระดับชั้น หัวหน้า และลูกน้อง มีส่วนร่วมในการทำงานเท่าๆ กัน ไม่มีใครได้สิทธ์พิเศษ เช่น หัวหน้ามีสิทธิ์เลือกการแต่งตัว เวลาพักแต่ลูกน้องไม่มีสิทธ์ เป็นต้น
- ผลการทำงานอาจเกิดจากหลายๆ คน ที่ทำงานแตกต่างกัน ให้พิจารณาเท่าเทียมกัน เริ่มต้นคิด และนำแนวคิดแบบมองออกไปใช้กับตัวเองก่อนแล้วชักชวนเพื่อนให้ทำด้วย
องค์กรใดที่มีบุคลากรเข้าใจ กรอบคิดสร้างสุขร่วมกัน หรือ Outward Mindset บุคลากรทุกคน ย่อมพร้อมหยิบยื่นไมตรี ช่วยเหลือกัน และพร้อมจะดึงคนรอบข้างไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้น การปรับเปลี่ยน Mindset จึงเปรียบเสมือนการปรับเปลี่ยนเลนส์ในการมองโลก มองตัวเรา และมองคนอื่น เป็นตัวสะท้อนทัศนคติที่ดี ซึ่งจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ส่งผลให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิต มีวิถีชีวิต และร่วมกันทำงานได้อย่างเป็นสุข ในทุกสถานการณ์