Objectives & Key Results หรือ แนวคิด OKRs มีการนำมาใช้ที่ Intel เป็นครั้งแรก คนที่นำมาใช้ในการบริหารองค์กรคนแรกคือ Andy Grove ในปี 1974 ซึ่งหลักการนี้ช่วยให้ Intel ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จน Andy Grove ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง OKRs แต่ OKRs เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากในปี 1999 เมื่อ John Doerr คือ ผู้ที่นำมาเผยแพร่แนะนำให้กับบริษัท Google และ OKRs ได้กระจายไปตามบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่น Google, Intel, LinkedIn, Oracle, Twitter เป็นต้น
แนวคิด OKRs คือ วิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จ โดย 1) การกำหนดวัตถุประสงค์ที่เราต้องการทำให้สำเร็จ และ 2) การกำหนดผลลัพธ์ที่จะวัดเพื่อให้รู้ว่า เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้ง โดยหลักการสำคัญของ OKRs ประกอบด้วย
1. การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นการกำหนดรายไตรมาส หรือทุก 3 เดือน ส่วนการวัดผลลัพธ์ อาจจะวัดเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ไม่เน้นปริมาณ จำกัดวัตถุประสงค์ประมาณ 3-5 ข้อ รวมทั้งการกำหนดผลลัพธ์ด้วย ประมาณ 3 ข้อต่อหนึ่ง วัตถุประสงค์ โดยผลลัพธ์ควรกำหนดตามหลักการ SMART goal
3. การกำหนดวัตถุประสงค์ควรกำหนดจากระดับองค์กรลงมาสู่หน่วยงานและพนักงาน โดยต้องให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดอย่างน้อย 50% จะเป็นลักษณะผสมผสานระหว่าง top down และ bottom-up approach เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
4. OKRs ยืดหยุ่นได้เมื่อมีปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องปรับ OKRs ก็ปรับตามได้
5. การกำหนดเป้าหมายตาม OKRs จะตั้งไว้ที่ 60-70% ไม่ใช่ 100% เหตุผลที่ตั้งไม่ถึง 100% เพื่อให้พนักงานมีแรงขับ เพื่อจะทำให้ได้ดีกว่าเป้าหมายตลอดเวลา
6. การกำหนด OKRs ทำเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา ไม่ใช่เพื่อการให้รางวัล
OKRs มาจากคำสองคำ คือ objectives + key results เป็นเครื่องมือตั้งเป้าหมายแบบสองระดับซึ่งต้องกำหนดให้สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วัตถุประสงค์ที่อยากทำให้สำเร็จหรือเป้าหมายที่อยากเดินทางไปให้ถึง (where) ส่วนผลลัพธ์เป็นตัวชี้วัดบอกว่าจะเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร (how)
พูดง่ายๆ ว่า วัตถุประสงค์ คือ สิ่งที่คุณต้องการทำให้สำเร็จ ส่วนผลลัพธ์ คือ วิธีการที่คุณจะทำให้สำเร็จ
objective คือ เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งทำให้สำเร็จ คุณสมบัติของการตั้ง Objective ที่ดี ได้แก่ เป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพ (qualitative) ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรหรือที่เรียกว่า Vision และ Mission เป็นเป้าหมายที่ต้องเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน สร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้กับองค์กร ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่ยากหรือง่ายจนเกินไป ควรพยายามให้ Objective สำเร็จได้ไม่ต่ำกว่า 60-70% อย่างสม่ำเสมอ
key result คือ ตัววัดความก้าวหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ คุณสมบัติของผลลัพธ์ ที่ดี ได้แก่ เป็นเป้าหมายเชิงปริมาณ (quantitative) ที่เป็นรูปธรรม หมายถึง นับได้หรือวัดผลได้ควรตั้งผลลัพธ์ ให้ได้ 3 – 4 อย่างต่อ objective 1 ข้อผลลัพธ์ แต่ละอย่างควรจะมีสมาชิกในทีมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยผู้รับผิดชอบควรสรุปสิ่งที่ตัวเองต้องทำออกมา (To do list)
แนวคิด OKRs สามารถนำไปใช้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองได้อีกด้วย นำไปใช้สำหรับการพัฒนาตนเอง และการตั้งเป้าหมายให้กับชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี เรียกว่า Personal OKRs
ก่อนจะพัฒนาองค์กร พัฒนาตนเองหรือยัง