ทำไมต้องคุณธรรมจริยธรรม หลายองค์กรมีการพัฒนาบุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล แต่ยังขาดความเข้าใจที่แท้จริงว่า เพราะเหตุใด องค์กรจึงต้องฝึกอบรมในเรื่องนี้ เป็นเพราะบุคลากรในองค์กรเป็นคนไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบอย่างนั้นหรือ ลองศึกษา ทบทวน เข้าใจเหตุที่ต้องพัฒนาบุคลากรด้านนี้ โดยมีหลักการ กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
มาตรา 76 รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดี ความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2553
มาตรา 3/1 การบริหารตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546
มาตรา 6 การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562
มาตรา 5 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย
1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่
3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากว่าประโยชน์ส่วนตัวและมีจิตสาธารณะ
5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว
มาตรา 19 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาจริยธรรมประจำหน่วยงานของรัฐ ในการนี้ อาจมอบหมายให้ส่วนงานที่มีหน้าที่และภารกิจในด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาลหรือเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือคณะกรรมการและกลุ่มงานจริยธรรมประจำหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่แล้วเป็นผู้รับผิดชอบก็ได้
2) ดำเนินกิจกรรมการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้ ฝึกอบรม และพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐ และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างให้มีการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมให้ประชาขนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจน สร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน
ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2580)
วิสัยทัศน์
“ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม คือ ยุทธศาสตร์ด้าน 3 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์นี้ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่งและมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะรับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง
เป้าหมาย
คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21
ประเด็นยุทธศาสตร์ ประเด็นที่ 1 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรมที่พึงประสงค์ เพื่อหล่อหลอมให้คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม ในลักษณะที่เป็นวิถีการดำเนินชีวิต การส่งเสริมให้มีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ยุทธศาสตร์ด้าน 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ยุทธศาสตร์นี้ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดยหน่วยงานภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ มีสมรรถนะสูง ยึดหลักธรรมาภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัยและพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา นำนวัตกรรม เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่าและปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส และร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง
เป้าหมาย
ภาครัฐมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม ตอบสนอง ความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ประเด็นยุทธศาสตร์
ประเด็นที่ 5 บุคลากรภาครัฐ เป็นคนดีและเก่ง ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก มีความสามารถสูง มุ่งมั่น และเป็นมืออาชีพ โดยภาครัฐมีระบบบริหารจัดการและพัฒนาบุคลากรให้สามารถสนองความต้องการในการปฏิบัติงาน มีความก้าวหน้าในอาชีพ สามารถจูงใจให้คนดีคนเก่งทำงานในภาครัฐ มีระบบการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรภาครัฐให้มีสมรรถนะใหม่ๆ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทการพัฒนา มีการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม การปรับเปลี่ยนแนวคิดให้การปฏิบัติราชการเป็นมืออาชีพ มีจิตบริการทำงานในเชิงรุกและมองไปข้างหน้า สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ประเด็นที่ 6 ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ มุ่งเน้นให้บุคลากรภาครัฐยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐต้องยึดถือแนวทางปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลีกเลี่ยงการขัดกันระหว่างประโยชน์บุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น 10 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 10 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม มีเป้าหมายสำคัญ คือ “คนไทยมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงามและมีความรักและภูมิใจ ในความเป็นไทยมากขึ้น นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต สังคมไทยมีความสุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศมากขึ้น” และกำหนดตัวชี้วัด คือ ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ ที่ปรากฏในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
(10) ประเด็นการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต การมีจิตสาธารณะการเป็นอยู่อย่างพอเพียง การกระทำอย่างรับผิดชอบ ความเป็นธรรมทางสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2570 จากปีฐาน พ.ศ. 2565 โดยมีแผนย่อยการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม การเสริมสร้างจิตสาธารณะ และการเป็นพลเมืองที่ดี โดยกำหนดเป้าหมายในแผนย่อย คือ คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความพร้อมในทุกมิติตามมาตรฐานและสมดุล ทั้งด้านสติปัญญาคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณที่ดี เข้าใจในการปฏิบัติตนปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
- ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมผ่านการเลี้ยงดูในครอบครัว ปลูกฝังค่านิยมและบรรทัดฐานวัฒนธรรมที่ดีผ่านสถาบันครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่พัฒนาในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การมัธยัสถ์ อดออม ซื่อสัตย์และดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างเสริมให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งและอบอุ่น
- บูรณาการเรื่องความพอเพียง ความซื่อสัตย์ วินัย คุณธรรม จริยธรรมและด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการเรียนการสอนในและนอกสถานศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอนตามพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา จัดให้มีการเรียนรู้ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- สร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางศาสนา เพื่อเผยแพร่หลักคำสอนที่ดี อุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา ส่งเสริมกิจกรรมและการนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน
- ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อนุรักษ์พัฒนาและสืบสานมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ส่งเสริมความเป็นไทยในระดับท้องถิ่นและชุมชน จัดให้มีพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ส่งเสริมชุมชนให้เป็นฐานการสร้างวิถีชีวิตพอเพียง
- การส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สร้างจิตสาธารณะและจิตอาสาโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร เพื่อรับผิดชอบต่อส่วนรวม สร้างเสริมผู้นำการเปลี่ยนแปลง และต้นแบบที่ดีทั้งระดับบุคคลและองค์กร โดยการยกย่องผู้นำที่มีจิตสาธารณะและจิตอาสาและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมสนับสนุนให้มีกลไกการดำเนินงาน ในการสร้างเสริมการพัฒนาจิตสาธารณะและจิตอาสาเพื่อสังคมและส่วนรวม โดยส่งเสริมและสนับสนุน องค์กรสาธารณะที่ไม่หวังผลประโยชน์
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 11 การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต มีเป้าหมายสำคัญ คือ “คนไทยทุกช่วงวัยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ได้รับการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 รักการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต” และกำหนดตัวชี้วัด คือดัชนีการพัฒนามนุษย์ ค่าคะแนน 0.82 ภายในปี 2570 โดยมีแผนย่อยที่เกี่ยวข้อง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมบทบาทความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม รวมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการและสร้างนวัตกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เพื่อให้องค์กรเครือข่ายชุมชนมีความเข้มแข็งเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม/การทำความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัวและชุมชน
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น 15 พลังทางสังคม
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 15 พลังทางสังคม มีเป้าหมายสำคัญ คือ “ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพิ่มขึ้น” โดยมีแผนย่อยที่เกี่ยวข้อง คือ การเสริมสร้างทุนทางสังคม ที่มุ่งต่อยอดการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา การสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้ดำรงอยู่และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีการพัฒนาต่างๆ ในการยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม การพัฒนานวัตกรรมจากทุนทางวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศบนฐานมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการยกระดับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของโลก
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าหมายสำคัญ คือ “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย อยู่ในอันดับ 1 ใน 43 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน ภายในปี 2570 และมีแผนย่อยที่เกี่ยวข้อง คือ ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์ สุจริตซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ด้วยความใสสะอาด ปราศจากพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตโดยการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างมีส่วนร่วม โปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม รู้จักจำแนกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน การสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตให้แก่บุคลากรในองค์กร โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง สอดส่อง ติดตามพฤติกรรมเสี่ยงและแจ้งเบาะแส เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้ โดยมีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ปรับระบบเพื่อลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ และปรับระบบงานและโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการลดการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฉบับปรับปรุง
การปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมบันเทิงและการใช้กลไกระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อน โดยกำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่ 1 การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศให้สมดุลทั้งทางวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป ให้คุณธรรมนำการพัฒนาสร้างสังคมแห่งคุณธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่การสร้างสังคมไทยให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นสังคมคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ประกอบด้วยกลไกที่สำคัญหลัก 4 กลไก (1) การเสริมความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม (2) การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล หน่วยงาน องค์กร และสื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม (3) การพัฒนากลไกใหม่ๆ อาทิ ระบบเครดิตสังคม (Social credit) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนคุณธรรม จริยธรรม ในระดับพื้นที่และระดับบุคคล และ (4) การปฏิรูปอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อใช้พลังบวก (Soft power) ให้เกิดการผลิตสื่อที่เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) สืบสาน รักษา ต่อยอดการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลง สร้างความพร้อมของประเทศต่อการรับมือและปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะวิกฤต และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) บนฐานศักยภาพและความเข้มแข็งของประเทศ แผนฯ 13 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” หมายถึง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับโครงสร้างนโยบาย และกลไก เพื่อมุ่งเสริมสร้างสังคมที่ก้าวทันพลวัตของโลก และเกื้อหนุนให้คนไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูง โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนา 13 ประการบ่งบอกถึงสิ่งที่ประเทศไทยปรารถนาจะ “เป็น” มุ่งหวังจะ “มี” หรือต้องการจะ “ขจัด” ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า โดยมีหมุดหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม คือ หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ โดยมีเป้าหมาย และผลลัพธ์การพัฒนาระดับหมุดหมาย คือ
1) คนไทยพัฒนาทุกช่วงวัย มีสมรรถนะสำหรับโลกยุคใหม่ คุณลักษณะที่ดีของสังคมและภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลันของโลก นับตั้งแต่เด็กช่วงตั้งครรภ์ถึงปฐมวัย เกิดอย่างมีคุณภาพมีพัฒนาการที่ดีและมีอุปนิสัยดี เด็กวัยเรียน วัยรุ่นมีสมรรถนะ ทักษะชีวิต คุณลักษณะเจตคติพลเมืองดีที่เข้มแข็งเชื่อมโยงงานกับชีวิต วัยแรงงานมีศักยภาพพัฒนางานและตนเองอย่างต่อเนื่อง และผู้สูงอายุเป็นพลเมือง มีคุณค่าของสังคม ซึ่งมีทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของเป้าหมายนี้
2) กำลังคนมีสมรรถนะสูงสอดคล้องการผลิตและงานในอนาคต
3) ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรอบหรือทิศทางในการดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคาม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ คือ “มีเสถียรภาพภายในประเทศ มีศักยภาพในการลดภัยข้ามเขตพรมแดนไทย มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาคและประชาคมโลก” ประกอบด้วย 16 นโยบาย และ 19 แผน ซึ่งแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่ 1) แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติที่ 1 ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ รองรับทุกนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ ประชาชนมีความสามัคคี มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมีส่วนร่วม และมีความพร้อมเผชิญปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามและปัญหาด้านความมั่นคง โดยส่งเสริมให้คนไทยมีความสามัคคี สังคมมีความสงบสุขและประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และผนึกกำลังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน จังหวัด ภาค และประเทศชาติ ให้เป็นเครือข่ายสนับสนุนงานด้านความมั่นคงและให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ส่งเสริมการปลูกฝังวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นค่านิยมที่ดีงาม ความภูมิใจในชาติ การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการความร่วมมือต่างๆ และกิจกรรมด้านความมั่นคงในการขจัดหรือลดปัญหาด้านความมั่นคง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความสงบสุขของสังคม และการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Growth) 2) แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติที่ 6 ด้านการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยึดมั่นในหลักนิติรัฐและแนวทางสันติวิธีโดยมุ่งเน้นการบริหารและการดำเนินงานของภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาลให้มีความเข้มแข็ง
ยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ (พ.ศ.2565- 2570)
วิสัยทัศน์ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ (Trusted Public Officers)
เป้าหมาย ยกระดับตัวชี้วัดนานาชาติและตัวชี้วัดระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐและตัวชี้วัดด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของการดำเนินงานภาครัฐของประเทศไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนด้านมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมภายในหน่วยงานของรัฐ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผลักดันนโยบายและระบบบริหารการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมภาครัฐให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานและทุกระดับ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการนำมาตรฐานทางจริยธรรมไปใช้ในการบริหารงานบุคคล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การรวมพลังทุกภาคส่วนในการสร้างสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและเสริมสร้างทัศนคติเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมและการกระทำผิด
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) เป็นแผนปฏิบัติการที่ต่อเนื่องจากแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ “คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มมากขึ้นด้วยดัชนีคุณธรรม 5 ประการ คือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู” มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกัน ด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยมี 2 ตัวชี้วัดหลัก คือ (1) ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู” เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2570 (2) หน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงานมีค่า ITA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 และมีแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและบรรลุตัวชี้วัดหลักของแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งแบ่งเป็น 3 แผนย่อย คือ แผนย่อยที่ 1 การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม/การทำความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย แผนย่อยที่ 2 การพัฒนาระบบและการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรม และ แผนย่อยที่ 3 การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กรเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมของกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมของกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงานย่อย ได้แก่
แผนงานย่อยที่ 1 การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม/การทำความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย เป้าหมายที่ 1 ข้าราชการ บุคลากรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริการของกระทรวงมหาดไทย มีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรม จริยธรรม เพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 2 เครือข่ายทางสังคมที่มีขีดความสามารถในการส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มขึ้น
แผนงานย่อยที่ 2 การพัฒนาระบบและการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรม เป้าหมายที่ 1 เครือข่าย องค์กรที่ร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 2 องค์กรเครือข่ายทางสังคมที่มีการพัฒนาระบบเครดิตทางสังคม (Social Credit) เพื่อรองรับการส่งเสริมคุณธรรม เป้าหมายที่ 3 หน่วยงานภาครัฐมีค่า ITA ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
แผนงานย่อยที่ 3 การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพคน และองค์กรเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม เป้าหมายที่ 1 ทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยเพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 2 คนไทยได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตจากการส่งเสริมคุณธรรมขององค์กรเครือข่ายเพิ่มขึ้น
เกณฑ์การประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม
องค์กรคุณธรรม หมายถึง องค์กรหรือหน่วยงานที่ผู้นำและสมาชิกขององค์กรแสดงเจตนารมณ์และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมในองค์กร ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม มาเป็นหลักในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีส่วนร่วมรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรมให้กับประชาชน ชุมชน หรือเครือข่ายต่างๆ แบ่งตามพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนคือ 1) องค์กรที่ตั้งอยู่ในส่วนกลาง 2) องค์กรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งองค์กรคุณธรรม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ ๑ องค์กรส่งเสริมคุณธรรม หมายถึง องค์กรที่ผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรได้ร่วมกัน ส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร โดยมีการร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และกำหนดเป้าหมาย ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ รวมทั้งร่วมกันจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมขององค์กร ระดับที่ ๒ องค์กรพัฒนาคุณธรรม หมายถึง องค์กรที่พัฒนาจากระดับส่งเสริมคุณธรรม มีการดำเนินงานตามแผนอย่างได้มาตรฐาน จนประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง มีการประเมินผล มีการปรับปรุงหรือพัฒนา และมีการทบทวนหรือถอดบทเรียนจากการดำเนินงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและหน่วยงานที่มีคุณธรรมหรือทำความดี ระดับที่ ๓ องค์กรคุณธรรมต้นแบบ หมายถึง องค์กรที่พัฒนาจากระดับพัฒนาคุณธรรม จนประสบผลสำเร็จ ทำให้องค์กรมีบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม บุคลากรในองค์กรมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและองค์กรมีการรวบรวมจัดทำองค์ความรู้จากผลสำเร็จการดำเนินงาน รวมทั้งสามารถเผยแพร่องค์ความรู้หรือผลสำเร็จในการดำเนินงาน และมีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับองค์กรอื่น
เกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ของสำนักงาน ป.ป.ช
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้พัฒนาเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงบวกที่มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการมุ่งจับผิด เปรียบเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้รับทราบถึงสถานะ และปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร ซึ่งการประเมิน ITA เป็นการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในด้านต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ด้านการปฏิบัติหน้าที่ ด้านการใช้งบประมาณ ด้านการใช้อำนาจ ด้านการใช้ทรัพย์สินของราชการด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริต ด้านคุณภาพการดำเนินงาน ด้านประสิทธิภาพการสื่อสาร ด้านการปรับปรุงระบบการทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูล และด้านการป้องกันการทุจริต เป็นต้น โดยผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการ สามารถอำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมิน ITA ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยี และการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ในการบริการประชาชนให้มีความทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น ที่สำคัญคือส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐมีการจัดการข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ได้รับรู้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้สะดวก และพร้อมรับการตรวจสอบจากภาคประชาชน
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 รัฐบาลมีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการดำเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ตลอดจนส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 52 และ 67 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมีนโยบายสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ วินัย คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ รัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 59 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก
และทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นคำตอบว่า ทำไมต้องคุณธรรมจริยธรรม ทำไมต้องคุณธรรมจริยธรรม ทำไมต้องคุณธรรมจริยธรรม และ ทำไมต้องคุณธรรมจริยธรรม นั่นเพราะกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของประเทศไทยกำหนดให้ต้องมีการพัฒนาบุคลากรในองค์กรอย่างไรเล่า