วิทยากรอย่างผมต้องสอดแทรกแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อให้วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 สู่แผนปฏิบัติที่มีความเป็นรูปธรรมและชัดเจน จนนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ในอนาคต ทั้งนี้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนจะประกอบด้วย 5 วาระสำคัญ ได้แก่
1.การเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในโลกที่ 1 ภายในปี 2575
2.การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
3.การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
4.การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านกลไกของ18กลุ่มจังหวัดและ76 จังหวัด
5.การบูรณาการเศรษฐกิจไทยอาเซียนเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก
ทั้ง 5 วาระในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 นั้น ในส่วนของการเตรียมคนไทย 4.0 เปรียบเหมือนการเตรียมเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ จากนั้นก็จะเปลี่ยนจากการปักชำที่มีแต่รากฝอยสู่การมีรากแก้วที่แข็งแรงด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีลำต้นที่แข็งแกร่งสามารถงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขา ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และสร้างความเข้มแข็งภายในผ่านจังหวัด สุดท้ายได้เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศน์โลก ด้วยการบูรณาการอาเซียนเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก ขณะที่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 จะครอบคลุมใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 2.ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม 3.การยกระดับคุณค่ามนุษย์และ 4.การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้น จะปรับระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเน้นการผลิตเพื่อส่งออก เป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ โดยจุดประสงค์เพื่อให้พ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 5,410 ดอลลาร์ในปี 2557 เป็น 15,000 เหรียญสหรัฐฯในปี 2575 (ชงแผนไทยแลนด์4.0เริ่มเดินเครื่องปีหน้า : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 22 ธันวาคม 2559)
การเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในโลกที่ 1 ภายในปี 2575 ถือเป็นแผนปฏิบัติการสำคัญของการสนับสนุนส่งเสริมของภาครัฐบาลและต้องการได้รับการตอบสนองความร่วมมือจากภาคเอกชน รวมถึงทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคนไทย 4.0 ให้รับมือกับยุคของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสาร การค้นพบและครอบงำของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนความขัดแย้งของความเจริญอันหลากหลาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดวิธีการเรียนรู้และระบบการคิดรูปแบบใหม่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องพัฒนาคนไทยตนเอง พัฒนาความคิด พัฒนาทักษะ พัฒนาศักยภาพสู่การเป็นคนไทย 4.0 ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
Dr. Howard Gardner ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของสมองกับการคิดและการเรียนรู้ และเจ้าของทฤษฎี Multiple Intelligence หรือ พหุปัญญา โดยนำเสนอกรอบความคิดเกี่ยวกับศักยภาพของคนที่จะประสบความสำเร็จ และสามารถจัดการกับตนเองและผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล การแข่งขัน และความท้าทายสูงในอนาคต
Dr. Howard Gardner มองว่า การเสริมสร้างศักยภาพ ดังกล่าวนั้น มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะสำคัญ เพราะ Dr. Howard Gardner เชื่อว่า 5 Minds หรือ จิต 5 ประการ มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จในการทำงานและการดำรงชีวิตในอนาคต ดังนี้คือ
- Disciplined Mind (จิตชำนาญการ หรือ จิตเชี่ยวชาญ)
คือ จิตที่ตั้งมั่นที่จะเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะให้เชี่ยวชาญ และชำนาญจริง รู้จริง รู้ลึก เข้าใจถ่องแท้ในหลาย ๆ ด้าน จิตนี้มีความสำคัญ ด้วยหากบุคคลปราศจากความเชี่ยวชาญในทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็เสมือนว่าถูกกำหนดให้อยู่ในการควบคุมของคนอื่น คนที่ขาดความชำนาญการจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในงานที่ต้องการได้ และถูกจำกัดอยู่ในงานที่ต่ำต้อย คำว่า Discipline มีความหมายหลายอย่างด้วยกัน แต่ในมุมมอง ของ Howard Gardner ได้ให้ความสำคัญกับสองความหมาย นั่นก็คือ สาขาวิชาและการมีวินัย
ต่อไปในอนาคต การรู้เพียงสาขาวิชาเดียวไม่เพียงพอ แต่ควรหลอมรวมวิชาสำคัญเข้าด้วยกัน เมื่อต้องการจะรู้เกี่ยวกับอะไรก็ตามอย่างลุ่มลึก จะรู้แต่ในด้านวิชาการด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องสามารถรู้ในด้านวิชาหลาย ๆ วิชาหลอมรวมกันไป เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม
นอกจากนี้ การทำงานอย่างสม่ำเสมอวันแล้ววันเล่าเพื่อพัฒนาทักษะและความเข้าใจ ซึ่งก็คือ ความมีวินัยอย่างสูง มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนา Disciplined Mind
คนที่จะสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการ ได้ย่อมต้องมีคุณลักษณะคือ รักการเรียนรู้ เรียนรู้เรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างลึกซึ้ง มีวินัยในตนเอง รู้วิธีการเรียนรู้ การหาข้อมูลในหลาย ๆ ด้านหลายมุมมอง มีความมั่นใจ มุ่งมั่น รักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต อดทนและฝึกฝนหาความรู้ความเข้าใจจนชำนาญและเชี่ยวชาญได้ นอกจากนั้น เมื่อสามารถหาข้อมูลได้ ก็ต้องรู้จักที่จะเชื่อมโยงความรู้เดิม กับ ความรู้ใหม่ เชื่อมโยงข้อมูลกับปัญหาปรากฏการณ์ ชีวิตประจำวัน ฯลฯ สามารถแยกแยะวิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่ได้มามากมายนั้น อาจจะถูกเพียงบางข้อมูล ใช้ได้จริงเพียงบางส่วน มีคุณภาพแค่บางผลงาน เป็นต้น
- Synthesizing Mind (จิตสังเคราะห์)
เมื่อมีความสามารถที่จะหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งแล้ว ก็จะต้องสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำความเข้าใจ และประเมินข้อมูลโดยปราศจากอคติ และผสมผสานให้กลายเป็นข้อมูลใหม่ที่มีความหมายต่อตัวผู้สังเคราะห์และผู้คนอื่น ๆ
จิตสังเคราะห์นี้ ประกอบด้วยทักษะสองส่วนสำคัญ คือ ทักษะการตัดสินใจกล่าวคือ ตัดสินใจว่าจะละทิ้ง ไม่ต้องสนใจข้อมูล หรือจะมุ่งสนใจข้อมูลใด และอะไรที่สำคัญในข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงการมีทักษะการคิดที่ดี และสามารถประเมินค่าได้ ทักษะนี้จะช่วยให้ไม่ถูกจมปลักกับข้อมูลที่ไม่มีคุณค่าและเลือกสนใจข้อมูลที่เป็นจริง มีเหตุมีผล และเป็นประโยชน์เท่านั้น ส่วนอีกทักษะหนึ่งก็คือ ทักษะการหลอมรวมเข้าด้วยกันในวิถีทางที่มีความหมาย มีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น
จิตสังเคราะห์มีหลายประเภท เช่น เรียงความ (narrative) การแบ่งหมวดหมู่ (taxonomies) แนวคิดซับซ้อน (complex concepts) ข้อปฏิบัติและสุภาษิต (rules and aphorism) การอุปมาการใช้ภาพและหัวข้อเรื่องที่มีพลัง (powerful metaphors, images and themes) การแสดงออกเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องใช้คำอธิบาย (embodiments without words) ทฤษฎี (theories) อภิทฤษฎี (metatheory) เป็นต้น
คนที่ขาดความสามารถในการสังเคราะห์จะถูกโถมทับด้วยข้อมูล และไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ
- Creating Mind (จิตสร้างสรรค์)
เป็นการผลิตความคิดใหม่ ๆ พร้อมทั้งตั้งคำถามที่แตกต่างไปจากเดิม และกำเนิดเป็นวิธีการคิดที่สดใหม่ ซึ่งก็อาจจะกลายเป็นคำตอบที่คาดไม่ถึง ความคิดสร้างสรรค์ สัมพันธ์กับทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นบัญชี วิศวกร กฎหมาย แพทย์ หรือครู จะเห็นได้เมื่อมีการคิดวิธีใหม่ๆ ทางบัญชี การสร้างสะพาน การผ่าตัด การฟ้องร้องคดีความ หรือ การกำเนิดพลังงานมากมายหลากหลาย ย่อมหมายถึงการคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการคิดเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยอาศัยการหยั่งเห็นเป็นสำคัญ หรือเป็นการค้นหา ความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ทำให้สามารถแก้ปัญหา คิดประดิษฐ์เครื่องมือ หรือคิดหาวิธีการใหม่ ๆ มาแก้ไขปัญหา
คนแต่ละวัยต้องการแรงผลักดันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กวัยก่อนเรียน จะถูกกระตุ้นตามธรรมชาติด้วยปรากฏการณ์ ประสบการณ์หัวข้อและคำถาม โดยไม่ต้องกระตุ้นหรือล่อใจด้วยรางวัลใด ๆ ถึงแม้ผู้ใหญ่จะไม่ได้ช่วยกระตุ้นด้วยการพาไปหาประสบการณ์ตรงอื่น ๆ เช่น พาไปงานนิทรรศการ งานออกร้านพิพิธภัณฑ์ หรือสวนสนุก แต่ความขี้เล่น อยากรู้อยากเห็น และพลังแห่งจินตนาการก็ยังคงเด่นชัด จึงกล่าวได้ว่า จิตของเด็กวัยอนุบาลนี้ เปี่ยมไปด้วยพลังของความคิดสร้างสรรค์และสิ่งที่ท้าทายผู้ใหญ่และผู้สอน ก็คือ การรักษาจิตและความรู้สึกของเด็ก ๆ เหล่านี้ ไม่ปิดกั้นการขยายของความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ได้สร้างสรรค์มากที่สุด The Creating Mind ต้องได้รับการบ่มเพาะด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ
- ตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ การปฏิบัติ การกระทำ
- ต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แต่ไม่จำเป็นต้องมีมากนัก มีความเชี่ยวชาญบ้างในบางเรื่อง
- มีการแสดงให้เห็นถึงการใช้วิธีการแปลกใหม่
- ต่อยอดไปยังสิ่งที่ไม่รู้ ด้วยการใช้คำถามที่ดีและคำถามใหม่ ๆ
- Respectful Mind (จิตเคารพ)
เป็นการยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่มถือเป็นความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น และหาวิธีที่จะทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยในโลกปัจจุบันและอนาคต การเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์จะมีมากขึ้นทวีคูณและการไม่ยอมรับฟังและขาดความเคารพซึ่งกันและกัน ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีของการอยู่ร่วมกัน
คนที่ขาดความเคารพ ไม่ควรค่าต่อการได้รับความเคารพจากคนอื่น อีกทั้งยังเป็นภัยต่อที่ทำงานและสาธารณชน
การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็นและอาจเป็นสิ่งที่เราต้องการเหนือสิ่งอื่นใด อีกทั้ง ความเคารพต่อความแตกต่างแทนที่จะเพิกเฉย หรือขุ่นเคืองต่อความแตกต่าง หรือหาทางทำลายล้างความแตกต่างโดยใช้ทั้งความรักหรือความเกลียดมีความสำคัญต่อชีวิตในอนาคตอย่างมาก ทุกคนควรยอมรับความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน รวมถึงเห็นคุณค่าในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย
จิตเคารพ ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจ และทัศนคติเกี่ยวกับวิธีการเชื่อมโยงตัวเรากับผู้อื่น การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น ด้วยการรู้เขารู้เรา การคิดบวกกับความแตกต่าง รวมทั้งการเห็นคุณค่าของความหลากหลายความคิด วัฒนธรรม และความแตกต่าง
คนที่เปี่ยมไปด้วยความเคารพอย่างแท้จริง จะใช้ประโยชน์จากความสงสัยในมนุษย์ เขาจะหลีกเลี่ยงความคิดแบบกลุ่ม หรือคิดแบบตาม ๆ กันอย่างดีที่สุด และเขาจะตำหนิเฉพาะคนที่สมควรจะถูกตำหนิ เขายังเปิดใจยอมรับว่า การตัดสินใจของเขาอาจจะผิดพลาดได้ และเขาก็พร้อมต่อความกระตือรือร้นที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเคารพผู้อื่น เราควรให้ความสำคัญกับความเคารพต่อคนที่มีภูมิหลัง และความเชื่อ ที่แตกต่างจากเราเป็นอันดับแรก และหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะย้อนคืนกลับมาหาเราเป็นลำดับถัดไป
- Ethical Mind (จิตจริยธรรม)
เป็นคุณลักษณะเชิงนามธรรมของบทบาทในหน้าที่การงาน และการเป็นพลเมือง รวมทั้งการปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นการรู้ถูกรู้ผิด มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และปฏิบัติตนโดยยึดหลักคุณธรรมจริยธรรมที่ดี รวมทั้งช่วยเหลือผู้อื่นทั้งนี้สังคมมนุษย์ที่ขาดจริยธรรม จะทำให้โลกขาดคนทำงานที่ซื่อสัตย์ และพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ
จิตจริยธรรมจะถูกปลูกฝังให้แก่เด็กได้ดีที่สุด เมื่อผู้ใหญ่รอบตัวเด็กแสดงให้เห็นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน และอธิบายให้เด็ก ๆ ได้รับรู้เป็นระยะ ๆ นำเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตน เป็นนักเรียนที่ดี เป็นสมาชิกของชุมชนที่ดี เป็นพลเมืองดีตามลำดับ
วันนี้ คุณพร้อมจะก้าวสู่การเป็นคนไทย 4.0 ด้วยการพัฒนาจิต 5 ประการตามแนวคิดที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกของ Dr. Howard Gardner แล้วหรือยัง พร้อมจะเรียนรู้ตนเองอย่างต่อเนื่องแล้วหรือยัง พร้อมจะเป็นมืออาชีพในงานที่ตนเองทำหรือยัง พร้อมจะบูรณาการชีวิตของตนเองให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0 แล้วหรือยัง
ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านจนจบ วางบทความนี้แล้วลองพิจารณาว่า คุณจะเริ่มต้นลงมือทำอย่างไร