ชื่อหลักสูตร หัวหน้างานชำนาญกิจ
หลักการและเหตุผล
หัวหน้างานชำนาญกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อความสำเร็จของงานและองค์การ ในอดีตมีความเชื่อว่า หัวหน้างานนั้นเป็นมาโดยกำเนิดพร้อมกับคุณลักษณะเฉพาะที่คนทั่วไปไม่มี ปัจจุบัน ความเชื่อดังกล่าวได้เปลี่ยนไปว่า หัวหน้างานมิได้เป็นมาโดยกำเนิด การเป็นหัวหน้างานสามารถสร้างขึ้นได้จากการที่ผู้นั้นใช้ความพยายามและการทำงานหนัก การเป็นหัวหน้างานจึงเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ หัวหน้างานเป็นคำที่มีผู้ให้นิยามมากมาย แต่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน คือ เป็นกระบวนการอิทธิพลทางสังคมที่บุคคลหนึ่งตั้งใจใช้อิทธิพลต่อผู้อื่น เพื่อให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนด รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์การ ภาวะหัวหน้างานจึงเป็นกระบวนการอิทธิพลที่ช่วยให้กลุ่มสามารถบรรลุเป้าหมาย
หัวหน้างานเป็นความสามารถด้านอิทธิพลต่อบุคคลในกลุ่มเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ใช้กระบวนการสั่งการ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การมีปฏิสัมพันธ์ โดยถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้น อาจกล่าว ได้ว่า หัวหน้างานเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งของกระบวนการ 3 อย่าง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีอิทธิพลต่อกันได้แก่ ผู้นำ (Leaders) ผู้ตาม (Followers) และสถานการณ์ (Situations) อันนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
ทักษะของหัวหน้างาน หมายถึง ความสามารถในการบริหารงานของหัวหน้างานในการดำเนินงาน โดยผ่านกระบวนการทางการบริหารอย่างมีระบบ ซึ่งอาศัยทรัพยากรหรือปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการบริหาร โดยการมีทักษะทางการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ทักษะด้านความรู้ความคิด ทักษะด้านเทคนิค ทักษะด้านการศึกษาและการสอน ทักษะด้านมนุษย์ และทักษะด้านความคิดรวบยอด เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
ทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับหัวหน้างานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ควรมี 3 ทักษะ คือ 1) ทักษะด้านความคิดรวบยอด (Conceptual Skills) หมายถึง ความสามารถของหัวหน้างานที่เข้าใจความสลับซับซ้อนขององค์การทั้งหมด ความสามารถในการมองเห็นองค์การในภาพรวม มีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่กระทบต่อองค์การ มีความสามารถในการประสานงานต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการมองเห็นภาพ และเข้าใจหน่วยงานในทุกลักษณะโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างงานและกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงาน 2) ทักษะทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Human Skills) หมายถึง การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ความต้องการของคน การสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา การกระตุ้น ยกย่องชมเชย ให้เกิดความสามัคคี การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนทุกโอกาส มีหลักเกณฑ์ที่ดีในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีการประสานความร่วมมือกับชุมชนในการให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เป็นทักษะการทำงานกับปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นความสามารถในการทำงานร่วมกับคนและการใช้คนเพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน และ 3) ทักษะทางด้านเทคนิค (Technical Skills) หมายถึง ความสามารถของผู้บริหารในการใช้ความรู้ วิธีการ เทคนิค เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจ อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเชี่ยวชาญและชำนาญจากประสบการณ์ การศึกษา การฝึกอบรม มีความสามารถในการวางระบบงาน การจัดทำงบประมาณ การประชาสัมพันธ์หน่วยงาน ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน สามารถแนะนำหรือชี้แนะให้ผู้อื่นปฏิบัติตามได้ ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์
มาใช้ในการบริหารได้เหมาะสมกับสภาพของหน่วยงาน ซึ่งมีทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้บริหารควรรู้ ได้แก่ 3.1) เทคนิคการบริหารงาน ที่ผู้บริหารต้องใช้การตัดสินใจอย่างรอบคอบโดยอาศัยข้อมูลและเหตุผลในการบริหารงาน 3.2) เทคนิคการสั่งการ ผู้บริหารต้องสั่งอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตามกาลเทศะให้เหมาะสมกับบุคคล 3.3) เทคนิคการรับฟังความคิดเห็น ผู้บริหารต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และวิเคราะห์พิจารณาความคิดเห็นก่อนจะนำไปใช้ 3.4) เทคนิคการติชม ผู้บริหารควรติชมให้เหมาะกับกาลเทศะ และติชมในเรื่องผลงานโดยยึดหลักติเพื่อก่อ และชมเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดกำลังใจ 3.5) เทคนิคการก่อให้เกิดระเบียบวินัย ซึ่งการวางระเบียบวินัยควรคำนึงถึงความเหมาะสมและความสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อการปฏิบัติ รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุมการปฏิบัติตามระเบียบวินัย 3.6) เทคนิคการวางตน ควรวางตนเป็นตัวอย่างมีความเที่ยงตรง ยุติธรรมไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แจกจ่ายงานให้ทั่วถึงไม่ควรสนิทสนมกับผู้ใดโดยเฉพาะ 3.7) เทคนิคการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับ
ผู้ร่วมงานเข้าร่วมสังคมภายในองค์การ รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอก และ 3.8) เทคนิคการเพิ่มสมรรถภาพให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีความก้าวหน้าในการทำงานโดยการทำงานตามความรู้ความสามารถของตน และมีโอกาสได้ เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา
เรียนรู้บทบาทของการเป็นหัวหน้างานทั้งแนวคิด และเทคนิคต่างๆในการบริหารงาน ตลอดจนทราบถึงบทบาทในการสั่งงาน สอนงาน และมอบหมายงาน การกำหนดเป้าหมายและวางแผนในการทำงานเพื่อให้ทีมงานของตนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บทบาทและเทคนิคที่ผู้นำ ผู้จัดการ หัวหน้างานขององค์กรควรรู้ ด้วยศาสตร์และศิลป์ในการบริหารคนแบบต่างๆ ที่หัวหน้างานยุคใหม่ต้องมี ตั้งแต่การบังคับบัญชา สั่งงาน มอบหมายงาน การสื่อสาร และการควบคุมงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงาน บริหารคน รวมถึงศิลปะและคุณลักษณะของการเป็นหัวหน้างานที่ดี
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้างานในองค์กรสมัยใหม่
2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจหลักการจัดการ และบริหารสำหรับหัวหน้างาน
3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่าง เหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์กร
รายละเอียดหลักสูตร
1.การพัฒนาแนวความคิดในการเป็นหัวหน้างาน
- บทบาทหน้าที่ของหัวหน้างาน
- หัวหน้างานในอุดมคติของทีมงาน
- การก้าวข้ามหลุมพรางทางความคิดเชิงลบ
- การพัฒนาตัวเองด้วยเทคนิคของตัวเอง
2.สำรวจแนวความคิดเกี่ยวกับการเป็นหัวหน้างาน
- คุณอยากเป็นหัวหน้างานหรือไม่?
- คุณเป็นทั้งหัวหน้างานแล้วได้ประโยชน์อะไร?
- คุณเป็นหัวหน้างานคุณภาพหรือไม่?
- ลูกน้องยอมรับว่าคุณเป็นหัวหน้างานหรือไม่?
3.ทักษะสำคัญของการเป็นหัวหน้างาน
- กำหนดเป้าหมายของทีม (Goal)
- การทำงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง (PDCA)
- การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ (Communication)
- การมองหมายงานและติดตามผล (Delegation)
- การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ (Problem Solving)
- การกล้าตัดสินใจ (Decision Making)
4.การพัฒนาทีมงานในฐานะหัวหน้างาน
- การสอนงาน (Coaching)
- การให้คำปรึกษาและกำลังใจ
- การบริหารความขัดแย้งของทีมงาน
- การทำงานเป็นร่วมกันอย่างสมานฉันท์