The Big Five Model หรือแนวคิดบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ เริ่มพัฒนาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1930 โดย Allport และ Odbert ทั้งสองเริ่มต้นศึกษาลักษณะนิสัยของมนุษย์ในภาษาอังกฤษจาก 4,000 – 5,000 คำ ลดทอนลงมาเหลือเฉพาะคำที่มีความหมายถึงลักษณะนิสัยทางจิตวิทยาได้ 1,800 คำ
หลังจากนั้น ในปี ค.ศ.1943 Cattell ลดทอนลงมาอีกเหลือ 35 ตัวแปร ต่อมา โดย Tupes, Cristal และ Norman สร้างแบบวัดบุคลิกภาพในปลายทศวรรษ 1970
จนสุดท้าย ในปี ค.ศ. 1980 คอสตาและแมคเคร (Paul T. Costa and Rober McGrae) สรุปแนวคิดของทฤษฎีไอแซงค์ (Eysenck, 1970) ซึ่งบ่งลักษณะนิสัยออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ เก็บตัว – แสดงตัว (Introverted – Extroverted) รวมถึงหวั่นไหว – มั่นคง (Neuroticism – Stability)
ทั้งสองร่วมกันพิจารณาแนวคิดของไอแซงค์ร่วมกับบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบของนอร์แมน (Norman, 1963) และพัฒนาขึ้นเป็นบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ โดยช่วงแรกบุคลิกภาพที่อธิบายลักษณะของมนุษย์มีเพียง 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความหวั่นไหว (Neuroticism) การแสดงตัว (Extroversion) และการเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience)
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1985 เพิ่มองค์ประกอบ 2 ด้าน ได้แก่ มิติการเห็นด้วยกับผู้อื่น (Agreeableness) และมิติการมีจิตสำนึก (Conscientiousness)
The Big Five Model หรือ บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ (the big five personality factors หรือ supertraits) ช่วยให้เข้าใจบุคลิกภาพที่แสดงถึงประสบการณ์ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และความสามารถพยากรณ์สภาพทางร่างกายและสุขภาพจิตหรือเรียกว่า OCEAN ประกอบด้วย
1. (Openness) บุคลิกภาพแบบเปิดกว้าง หมายถึง รู้จักคิดสร้างสรรค์อย่างมีจินตนาการ ให้ความสนใจในสิ่งที่หลากหลาย มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง กล้าเปิดเผยความรู้สึก หรือพร้อมที่จะรับรู้และคล้อยตามสภาวการณ์ ช่างฝัน (Fantasy) การซาบซึ้งในความงาม (Aesthetics) การเปิดเผยความรู้สึก (Feelings) การปฏิบัติ (Actions) การมีความคิด (Ideas) และการยอมรับค่านิยม (Values)
2. (Conscientiousness) บุคลิกภาพแบบมีสติ หมายถึง สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีระเบียบวินัย ให้ความระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบ มีความสามารถ (Competence) ความเป็นระเบียบ (Order) การมีความรับผิดต่อหน้าที่ (Dutifulness) การมีความต้องการสัมฤทธิ์ผล (Achievement striving) ความมีวินัยในตนเอง (Self-discipline) และแนวคิดที่ใช้ปฏิบัติงาน (Deliberation) มีความคิดที่สามารถปฏิบัติได้ มีความระมัดระวังในการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย
3. (Extraversion) บุคลิกภาพแบบเปิดเผยแสดงตน หมายถึง มีความร่าเริงในชีวิต ชอบร่วมกิจกรรมสังสรรค์สมาคม แสวงหาความตื่นเต้น กล้าแสดงออก มีความอบอุ่น (Warmth) การชอบอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Gregariousness) การแสดงออกแบบตรงไปตรงมา (Assertiveness) การชอบมีกิจกรรม (Activity) การชอบแสวงหาความตื่นเต้น (Excitement-seeking) การมีอารมณ์ด้านบวก (Positive Emotions) สนุกสนาน มีความสุข มีความหวังและมองโลกในแง่ดี
4. (Agreeableness) บุคลิกภาพแบบยอมรับ หมายถึง สุภาพอ่อนโยน น่าไว้วางใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แสดงการถ่อมตน ยอมตามผู้อื่น พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคน ไว้วางใจผู้อื่น (Trust) ความตรงไปตรงมา (Straightforwardness) ความรู้สึกเอื้อเฟื้อ (Altruism) การยอมตามผู้อื่น (Compliance) ความสุภาพ (Modesty) และการมีจิตใจอ่อนโยน (Tender-mindedness) ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น มีความหวั่นไหวต่อความต้องการของผู้อื่น
5. (Emotional Stability/Neuroticism) บุคลิกภาพที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ หมายถึง รักความสงบ มีจิตใจมั่นคง พอใจในตนเอง สามารถเผชิญกับความเครียดได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น รับมือกับความสิ้นหวังได้ ไม่ตื่นตระหนกเมื่อประสบกับสถานการณ์ ฉุกเฉิน
ด้านโกลด์เบอร์ก (Goldberg) ศึกษาบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ เป็นการจัดกลุ่มบุคลิกภาพ และอธิบายบุคลิกภาพด้วยการใช้คำคุณศัพท์ แบ่งออกเป็น 5 ปัจจัย คือ ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability) การแสดงตัว (Extraversion) สติปัญญา (Intellect) ประนีประนอม (Agreeableness) และการมีจิตสำนึก (Conscientiousness)