อบรมคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของศาสนา

อบรมคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของศาสนา

          อบรมคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของศาสนา การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ไม่จำกัดแต่เพียงหน่วยงานราชการเท่านั้น หน่วยงานเอกชนควรมีการพัฒนาบุคลากรด้านนี้เฉกเช่นกัน เพราะการที่บุคลากรในหน่วยงานมีคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลย่อมส่งผลให้หน่วยงาน องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีทิศทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมภายในองค์กร มีความเข้าใจและพร้อมใจกันปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรม
ตลอดจน สร้างคุณประโยชน์ทั้งภายในหน่วยงานและต่อสังคมภายนอก ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความเชื่อมั่นต่อคณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานว่าเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคคล องค์กรที่ดี เป็นที่ยอมรับแก่สาธารณชนทั่วไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาทักษะความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรมหรือ MQ (Moral Quotient) กล่าวคือ การที่บุคคลมีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม เป็นแนวคิดที่มุ่งตอบคำถามว่า การที่บุคคลมี IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญาดี EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์สูง แต่หากมีคุณธรรม จริยธรรมในระดับต่ำ อาจใช้ความฉลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

          คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลไม่ใช่เรื่องของศาสนา

          คำว่า Good Governance มีใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1989 ในรายงานเรื่อง Sub-Sahara Africa : From Crisis to Growth ซึ่งเป็นรายงานที่ธนาคารโลก พยายามวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของรัฐในอัฟริกาที่มีต่อการพัฒนาประเทศ
คำว่า Good Governance เริ่มมีบทบาทในแง่ของโลกาภิวัฒน์ เพราะทั้งธนาคารโลกและกองทุนเงินระหว่างประเทศต่างเชื่อว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะทำไม่ได้เลย หากประเทศนั้นปราศจาก Good Governance หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้มีการผูกโยง คำว่า “การพัฒนา” เข้ากับคำว่า “Good Governance” หรือ การกำหนดกลไกอำนาจรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศทั้งด้าน เศรษฐกิจและสังคม
สอดคล้องกับ ดร.โรเบิร์ต โคลส์ จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ผู้แยก MQ ออกมาจาก EQ กล่าวชวนคิดมากว่า ทักษะความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรมหรือ MQ (Moral Quotient) นั้น ไม่สามารถฝึกฝนหรือขัดเกลาได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะบุคคลเจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว เหมือนดังคำโบราณของไทยที่ว่า สันดอนนั้นขุดได้ แต่สันดานนั้นขุดไม่ได้

          เพราะเหตุใด

         ในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี โดยเฉพาะวิธีการทางพระพุทธศาสนาหรือพุทธวิถีที่มีความละเอียดลึกซึ้ง เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจให้แจ้งชัดว่า การพัฒนาบุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการองค์กร (Organization management) ไม่ใช่การปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยมทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ในทางตรงกันข้าม หากตีความว่า การพัฒนาบุคลากรด้านนี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติธรรมหรือต้องให้บุคลากรนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัด แทนที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนากลับยิ่งกลายเป็นการทำร้ายให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอยลงไปมากยิ่งขึ้น เพราะการจะประกอบกิจใดให้ประสบผลสำเร็จ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหลักธรรมสำคัญ คือ อิทธิบาท ๔ ประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 
หากเริ่มต้นไม่พอใจ ไม่รักในสิ่งนั้น ถูกบังคบข่มใจให้ไปปฏิบัติธรรมนั่นก็ไม่ตรงกับหลักพระธรรมคำสอน แล้วความเจริญ พอใจในพระพุทธศาสนาจะมาจากสิ่งใด
ประการต่อไป คือ หากคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา บุคลากรที่นับถือศาสนาอื่นๆ จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร มีความแตกต่างกันหลายประการ กอปรกับประเทศไทยให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาเป็นหลักอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากวันหยุดราชการเป็นไปตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและกิจกรรมองค์กรต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ไหว้พระ การบรรพชาเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น

          นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการระบุหรือบังคับชี้วัดว่า การพัฒนาบุคลากรทางคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลจะต้องดำเนินโครงการหรือกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างเดียว ดังเช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๖ ระบุว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้ เกิดประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก และได้รับการตอบสนองความต้องการ และมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
หรือแม้แต่พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ระบุว่า มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากว่าประโยชน์ส่วนตัวและมีจิตสาธารณะ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจน การดำรงตนในการกระทำความดี และละเว้นความชั่ว

          ดังนั้น การตีความว่า การพัฒนาบุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล คือ การนำพาบุคลากรเข้าวัดปฏิบัติธรรม นุ่งขาวห่มขาว ปิดวาจา ปิดโทรศัพท์มือถือ จากครอบครัวมา ทิ้งลูกทิ้งสามีในนอนรออยู่ที่บ้าน เป็นเรื่องต้องกลับมาทบทวนความจริงมากกว่าจะยึดเอาความเชื่อของผู้บริหารองค์กรที่ไม่เข้าใจคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลอย่างถ่องแท้ ดำเนินการเพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองว่าเป็นผู้สนใจใฝ่ธรรมะเท่านั้น

          อบรมคุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของศาสนา