พัฒนาความคิดเชิงบวก

พัฒนาความคิดเชิงบวก

ชื่อหลักสูตร พัฒนาความคิดเชิงบวก
หลักการและเหตุผล

พัฒนาความคิดเชิงบวก หรือการมองโลกในแง่ดีหรือการคิดเชิงบวก เป็น 1 ใน 4 องค์ประกอบที่สำคัญของคนที่มีความสุข คนมีความสุข คือ คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง คนที่มองโลกในแง่ดี คือ มีความเชื่อมั่นว่า ตนเองสามารถทำอะไรก็ตามได้แทบทุกอย่าง และถ้าทำสิ่งใหม่ๆ ก็คาดว่าจะสำเร็จได้ มักจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าที่มองในแง่ร้าย คนที่มองโลกในแง่ดีจะเครียดน้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย

ดังนั้น คนมองในแง่ดีมักจะมีสุขภาพดีกว่า และมองอุปสรรคเป็นสิ่งที่ท้าทายให้เราต้องเอาชนะให้ได้ จะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทางเป็นไปได้ ดังนั้น จึงมีความอิ่มเอมใจมากกว่าและกล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง และประสบความสำเร็จมากกว่า

แต่การมองโลกในแง่ดีที่จะนำความสุขมาให้ หมายถึง การมองโลกในแง่ดีบนหลักแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่การเพ้อฝันหรือคาดหวังมากเกินไปหรือมองโลกในแง่ดีอย่างไม่มีหลักการ ซึ่งหากชีวิตจริงไม่เป็นไปตามนั้น จะทำให้คนแบบนี้ผิดหวังมากและทุกข์มาก

ดังนั้น กุญแจของชีวิตที่จะมีความสุข จึงไม่ใช่อยู่ที่การมองในแง่ดีเท่านั้น มันคือการผสมผสานของการมองในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราเกิดความหวัง โดยการมองโลกตามความเป็นจริง เพื่อยับยั้งไม่ให้เราอิ่มอกอิ่มใจมากเกินไป อีกทั้ง ยังสามารถที่จะแยกแยะได้ว่า มีปัจจัยบางประการที่ขึ้นอยู่กับตัวเรา เราเป็นผู้ควบคุมมันได้เองและมีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยภายนอกที่เราไม่อาจควบคุมได้ เป็นต้น

ความคิดมีความเชื่อมโยงกันกับการกระทำโดยตรง อาจกล่าวได้ว่า ความคิดนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการกระทำ ส่วนใหญ่คนเรามักคิดอย่างไรก็จะแสดงออกหรือมีพฤติกรรมเช่นนั้นเสมอโดยธรรมชาติของคนเรามักจะเกิดการคิดลบได้เสมอ มองเห็นข้อบกพร่องก่อนข้อดี ในขณะที่การคิดเชิงบวกมีความซับซ้อนที่มีมุมมองความคิดลึกกว่า และมีการคิดหลายชั้นที่ไม่ใช่แค่จากการมองเห็นแล้วสรุปได้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

แต่มีการมองที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น (ด้านลบ) อาจจะมีประโยชน์หรือสิ่งที่ดีแอบแฝงอยู่ การมองโลกเชิงบวก จึงเป็นการเข้าใจที่จะยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นและมองด้านลบอันเป็นทุกข์ที่อาจทำให้เกิดความไม่ราบรื่น เราสามารถเลือกมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็มีเป็นประโยชน์แอบแฝงอยู่ สถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างเราไม่สามารถควบคุมว่า จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิดได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้วเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะมองหรือจะรู้สึกกับสิ่งนั้นได้เช่นไร จะถอยหรือจะเกิดความคิดใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์

ซึ่งการคิดบวกยังสามารถทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคอย่างไม่หนีถอยได้ง่าย การคิดบวกทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจ อาจเป็นช่องว่างทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา โดยที่จะเป็นประโยชน์ได้อย่างเหลือเชื่อ อันจะก่อให้เกิดปัญญาที่เฉียบแหลมขึ้นได้ เปรียบดั่งเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นกล่องความคิดที่เกิดจากการได้สัมผัสความจริง สภาวะกล่องความคิดเราก็จะดำเนินการเป็นไปอย่างมีระเบียบ แต่พอเราคิดบวกคลื่นความคิดจะมีการกระเพื่อมอย่างสบายๆ แต่พอเราคิดลบกระแสความคิดก็เริ่มจะมีการทำงานแตกต่างจากการคิดบวก ทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สบายเกิดขึ้นได้ ความคิดอาจจะไม่เป็นระบบระเบียบ ตัดสินไม่ได้ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ทำให้เกิดความสับสนอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งพอเกิดเรื่องพร้อมๆ กันหลายเรื่อง ความวุ่นวายก็จะทวีคูณมากขึ้นและอาจจะทำให้มีการปรุงแต่งข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลเก่าและเพิ่มข้อมูลใหม่ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดความคิดยุ่งเหยิงไปกว่าเดิมได้

การคิดเชิงบวกเป็นการเรียนรู้ที่อาศัยการฝึกฝนและพัฒนา โดยการเรียนรู้เชิงบวกนี้เป็นการแปลความหมายจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ใช่เป็นการปรุงแต่งความคิดหรือคิดไปเอง แต่เป็นการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองใหม่ๆ ในทางสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์และมีคุณค่าจากการคิดในแง่มุมเดิมอย่างเช่นเกิดเหตุการณ์เดียวกัน

คนที่มีความคิดเชิงบวกจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ทำให้รู้สึกถึงความสุขสงบใจได้ แต่ในขณะเดียวกันกับคนที่มีความคิดด้านลบจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความวิตกกังวล และอาจจะมีความสับสนวุ่นวาย ทำให้เกิดความทุกข์ได้

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงบวกจึงมีความเชื่อมโยงกันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม หากคนที่มีทัศนคติเชิงบวกเมื่ออยู่ใกล้ใคร มักจะดึงศักยภาพของคนรอบข้างออกมาได้ทำให้คนรอบข้างเหล่านั้นมองเห็นคุณค่าของตนเองและรู้สึกดี รวมทั้งนึกถึงผู้คนรอบข้างในทิศทางบวกยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากได้อยู่ใกล้กับคนคิดลบ จะทำให้คนรอบข้างรู้สึกหดหู่ใจหรือจิตตกได้

วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และเข้าใจกระบวนการความคิดเชิงบวก

2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้เกี่ยวกับความคิดเชิงบวกไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน
3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

รายละเอียดหลักสูตร

1.พัฒนาความคิดของตนเองด้วยตนเอง
เรียนรู้การพัฒนาความคิดของตนเอง ปรับทัศนคติการใช้ชีวิต การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและผู้อื่น ด้วยหลักการพิจารณาอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)

2.คิดเป็นก่อนคิดบวก
เข้าใจในการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงวิจารณญาณ มีความสามารถวิเคราะห์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ รู้จักการหาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ อย่างแท้จริง

3.เทคนิคการพัฒนาตนเองเพื่อการคิดเชิงบวก
เรียนรู้แนวทางการพัฒนาความคิดเชิงบวกของตนเองจากแนวทางตามหลักจิตวิทยาในการพัฒนาความคิดเชิงบวก ด้วยหลัก 12 เทคนิคการพัฒนาตนเอง

4.หลักการบริหารจัดการตนเองเพื่อการคิดเชิงบวก
เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการตนเอง การบริหารจัดการงานและการบริหารจัดการเวลา และความหมายของการมีชีวิตอยู่ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองและผู้อื่น

ติดต่อสอบถาม