สมดุลชีวิตหรือดุลยภาพของชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถฝึกฝน ขัดเกลาให้เกิดขึ้นแก่ตนเองได้ ผ่านวิถีชีวิตที่หมั่นสังเกต สงสัย สอบทานตนเองอย่างสอดคล้อง กลมกลืนระหว่างสถานการณ์ภายนอกกับกระบวนการภายในตัวของตนเอง การดำรงชีวิตอย่างมีสมดุลจนเกิดเป็นดุลยภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้น โดยการมองตัวเราเองใหม่ มองในมิติชีวิตแบบองค์รวม (wholeness) อันประกอบขึ้นจากหลายส่วน เช่น มองชีวิตเหมือนขันธ์ 5 แม้ว่าจะแยกส่วนด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ขันธ์ 5 ไม่สามารถขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปได้ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยง เชื่อมร้อยกันอย่างมีเหตุมีผล เป็นหลักการ เป็นต้น สมดุลชีวิตหรือดุลยภาพของชีวิตในที่นี้เช่นกัน จำเป็นต้องอาศัยการจำแนกจัดกลุ่มส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบกันเป็นองค์รวมชีวิต แบ่งออกเป็นปัญญาหรือการรู้แจ้งสามส่วน เรียกว่า ปัญญาสามฐาน
ปัญญาสามฐาน ประกอบด้วยฐานคิด ฐานจิตและฐานกาย เป็นการแยกแยะอย่างง่ายที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจว่า มนุษย์ไม่ได้มีตัวตนเพียงส่วนเดียว แต่มนุษย์จำเป็นต้องอ่อนน้อมเรียนรู้อย่างเข้าใจต่อความหลากหลายอันประกอบขึ้นมาเป็นตัวฉัน โดยแต่ละส่วนต่างมีกระบวนการจำแนกแยกเป็นชีวิตของแต่ละส่วน แต่ในขณะเดียวกัน ปัญญาสามฐานยังเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างมีความหมายและความเป็นทั้งหมดที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวฉัน คือ สหปัญญา ที่แต่ละส่วนต่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ปัญญา 3 ฐาน แต่ละฐานมีรายละเอียดดังนี้
ฐานกาย หมายถึง ร่างกายที่ประกอบส่วนด้วยอวัยวะต่างๆ อันซึ่งประกอบขึ้นด้วยเนื้อเยื่อเซลล์ ออกาเนลล์ โมเลกุลและอะตอม เป็นสิ่งที่จับต้อง มองเห็นด้วยตาเปล่าหรือเครื่องมือได้ ถ้าเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์จะเทียบได้กับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ (hardware) ในอดีต เมื่อสมัยศตวรรษที่ 17 นักปรัชญาชื่อ เรอเน่ เดส์การ์ตส์ (Rene’ Descates) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจิตกับกาย และให้คำนิยาม ฐานกายหรือร่างกายว่า เป็นเหมือนหุ่นยนต์ จะเคลื่อนไหวได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งกระตุ้นและสิ่งเร้า
นอกจากนี้ ยังมีจิตซึ่งจะบีบบังคับร่างกายผ่านสมองให้ร่างกายทำตามอย่างที่จิตต้องการ เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงมีฐานกายเป็นผู้ที่ถูกรู้และจิตหรือจิตใจเป็นผู้รู้หรือผู้เฝ้าสังเกต ถ้ามนุษย์เรียนรู้โดยใช้ฐานกายอาจจะเป็นสมองเรียนรู้ โดยเกิดจากการทำซ้ำบ่อยๆ จนจำได้หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยพบเห็นมาก่อน กล้าเผชิญตามสัญชาตญานหรือการนั่งสมาธิโดยกำหนดรู้ที่ฐานกาย เช่น รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกอาการท้องยุบท้องพองหรืออาการก้าว ยก ย่าง เหยียบ เป็นต้น
ฐานคิด หมายถึง การคิดที่ผ่านการไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์เป็นเชิงตรรกะเหตุผล คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ การเรียนรู้ด้วยฐานคิดจะใช้สมองเป็นองค์ประกอบหลักและสำคัญที่สุด เมื่อมีการรับสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าแล้วมีกลไกส่งไปยังสมอง สมองจะทำหน้าที่ประมวลผล จึงตอบสนองตอบกลับไปยังสิ่งเร้าด้วยกลไกการส่งสัญญาณเป็นประจุไฟฟ้าไปยังอวัยวะตอบสนองให้ทำงาน
ฐานใจ หมายถึง จิตใจหรือตัวรู้ เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ เช่น ชอบ รัก ชื่นชม อภัย ขอบคุณ ตัวอย่างเช่น เรียนวิชานี้เพราะชอบ เพราะสนุก มีความสุข ความพอใจ รักวิชานี้จึงอ่านได้เป็นเวลานานๆ อ่านหนังสือเล่มนี้สนุกจนวางไม่ลง เหล่านี้เป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าใช้เฉพาะฐานกาย การเรียนรู้ด้วยฐานใจ คือ การใส่อารมณ์ต่างๆ เข้าไปด้วย ใส่ความสนุกเข้าไปในงานหรือกิจกรรมที่ทำในปัจจุบันขณะ
อ้างอิง
ประเวศ วะสี . 2553. ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด. สำนักพิมพ์กรีน-ปัญญาญาณ. กรุงเทพมหานคร