ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

21 Century skills

ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมา ทุกครั้งที่ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายหรืออบรมในหลักสูตรต่างๆของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วทุกภาคของประเทศ ผมจะสอดแทรกแนวคิดทักษะที่มนุษย์จะต้องมีในศตวรรษที่ 21 เข้าไปด้วยทุกครั้ง เพราะผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นแก่นที่คนไทยทุกคนควรจะต้องได้รับการพัฒนาและพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกับมนุษยชาติจากประเทศอื่นๆ

จริงๆ ทักษะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มีการพูดถึงกันมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 มีการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนทั้งทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในเมืองไทยของเรา ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิชเป็นผู้บุกเบิกและบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ

ปัจจุบัน มีหนังสือแปลเป็นภาษาไทยวางขายกันเกลื่อนร้านหนังสือ แต่คนไทยไม่ชอบการอ่านและไม่ชอบของแพงจึงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ มีเพียงครู นักการศึกษาที่สนใจนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน อาทิ ห้องเรียนกลับทางหรือ Flipped Classroom เป็นต้น

ทักษะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มีประเด็นการเรียนรู้หลากหลาย ประเด็นที่ผมนำมาเป็นแนวคิดและสอดแทรกในการพัฒนาบุคลากร คือ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือ Learning 21 century skills หรือผมเรียกง่ายๆว่า 4C 21 Century ประกอบด้วย Critical thinking Communication Creativity และ Collaboration

Critical thinking หรือการคิดในภาวะวิกฤติ
ถือเป็นทักษะที่มนุษยชาติบนโลกกลมๆ ใบนี้จะต้องมี เพราะปัญหาเป็นธรรมดาสามัญที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเจอ คำกล่าวที่กล่าวว่า ไม่มีหนทางใดจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ดูจะเป็นคำพูดที่เป็นสัจพจน์กับทักษะในข้อนี้ ผมคิดเสมอว่า ปัญหานำมาซึ่งการพัฒนา และผมเชื่อเช่นนั้น ถ้าหากไม่มีความมืดก็คงไม่มีหลอดไฟ ถ้าหากไม่มีความร้อนก็คงไม่มีพัดลม ถ้าหากไม่มีความทุกข์ก็คงไม่มีหนทางดับทุกข์

หากแต่ปัจจุบัน มนุษยชาติกลับหนีปัญหา หลบเลี่ยงปัญหาและไม่พยายามจะแก้ไขปัญหา มิหนำซ้ำ ยังโยนปัญหาให้กับคนอื่นๆเรียกว่า รับชอบแต่ไม่รับผิด ไม่ชอบการเผชิญหน้าบนความจริง ไม่อยากรับฟังคำติเตือนจากกัลยาณมิตรผู้หวังดี  ดังนั้น การพัฒนาความคิดในภาวะวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญที่ผมจะยัดใส่ลงไปในทุกหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการบริการที่เป็นเลิศ ภาวะผู้นำ การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดให้บุคลากรในองค์กรเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสู้กับปัญญา ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับคำกล่าวของธีโอดอร์ รุสเวลต์ที่กล่าวไว้ว่า คนที่ไม่เคยทำผิด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย

Communication หรือการสื่อสาร
ทุกองค์กรล้วนมีรากเหง้าของปัญหามาจากการสื่อสารแทบทั้งสิ้น เพราะการสื่อสารถือเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่มนุษยชาติแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เหตุที่การสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของมนุษยชาติเพราะในชีวิตประจำวัน ชีวิตการทำงานล้วนต้องอาศัยการสื่อสารแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การมอบหมายงาน การสอนงาน การสั่งงาน เป็นต้น

การสื่อสารมีทั้งวัจนะภาษาและอวัจนะภาษา เป็นเรื่องแปลกที่คนไทยมีภาษาประจำชาติแต่กลับคุยกันไม่รู้เรื่อง พูดกันไม่รู้ฟัง ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ส่งผลให้องค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง ยั่งยืน ตัวอย่างง่ายๆ คือ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ทรงพระราชทานแก่คนไทยทุกคนทุกชนชั้น มีสักกี่คนในจำนวนประชากรหกสิบล้านคนที่น้อมนำพระบรมราโชวาทนั้นมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน หรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยังพากันงุนงง คลุมเครือด้วยเหตุเพราะไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถเข้าถึง ทำอย่างไรก็ไม่พัฒนา

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทักษะการสื่อสารจึงจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะของมนุษย์ในศตวรรษนี้ ศตวรรษที่สังคมโลกไม่ได้กลมอีกต่อไป เป็นสังคมแบนราบแบบที่โคลัมบัสเคยกล่าวว่า โลกนี้แบน หรือหนังสือชื่อดังแห่งศตวรรษที่ผมอ่านจบแล้ว คือ The world is flat ของ Thomas L.Friedman เขียนอธิบายไว้ได้อย่างละเอียดชัดเจน

Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำตัวแปลกแยกกว่าคนอื่น สร้างความแตกต่างอย่างไม่มีเหตุผล ไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่มองอย่างเป็นจริง เวลาผมสอนหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดเชิงบวก ผมมักจะบอกเสมอว่า การจะคิดบวกหรือคิดสร้างสรรค์ต้องคิดให้เป็นเสียก่อน เช่น รองเท้า ซื้อมาแล้วลงสีให้สวยงาม เพิ่มมูลค่าเข้าไป แบบนี้ผมถือว่า สร้างสรรค์ แต่ถ้ารองเท้า ใส่ข้างหนึ่งแบบหนึ่งสีหนึ่ง อีกข้างใส่แบบหนึ่งสีหนึ่ง แบบนี้ ผมเรียกว่า บ้า

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้คำจำกัดความของความคิดสร้างสรรค์ไว้ง่ายๆน่าฟังว่า ความคิดสร้างสรรค์ คือ ทำสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สามารถสร้างแบรนด์หรือสร้างความน่าจดจำให้แก่ผู้อื่นได้ง่ายมาก ดังเช่น สามยอดมนุษย์ของจังหวัดเชียงราย คนแรก คือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีที่นำธรรมะมาเผยแผ่ในสื่อดิจิทัลจนโด่งดังไปทั่วโลก เปลี่ยนธรรมะที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายๆ คนที่สอง คือ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ล่วงลับระดับโลกที่นำเอาศิลปะมาประยุกต์กับหลักมรณานุสติ คนที่สาม คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่สร้างสรรค์วัดร่องขุ่นให้เป็นสรวงสวรรค์บนดิน นำศิลปะมามาประยุกต์กับหลักศาสนา แบ่งเขตวัดเป็นสามเขต พุทธาวาส สังฆาวาสและฆราวาส

Collaboration หรือการบูรณาการ
ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น อาศัยกับผู้อื่น ยอมรับฟัง ยอมรับแนวคิดของผู้อื่นเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของมนุษย์ที่สามารถทำงานข้ามพรมแดนกันได้อย่างเสรี ครั้งหนึ่ง ผมบรรยายให้กลุ่มงานยุทธศาสตร์จังหวัดฟังในเรื่องดังกล่าวแก่ตำรวจทหาร ทุกคนล้วนทำหน้าสงสัยว่า บูรณาการคืออะไร ผมอธิบายง่ายๆว่า มันคือ สนธิกำลัง สายตาของตำรวจทหารเข้าใจในทันที การบูรณาการคือ การนำจุดแข็งของคนอื่นมาช่วยปิดจุดอ่อนของตนเอง ปราชญ์กล่าวไว้ว่า อยากไปเร็วต้องไปคนเดียว แต่อยากไปอย่างมั่นคงต้องไปเป็นทีม ดังนั้น การบูรณาการจึงถือเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษนี้ที่คนไทยควรได้รับการพัฒนา

ทักษะทั้งสี่ประการไม่เพียงแต่จะทำให้เราเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติและอาเซียน หากเราพัฒนาตนเองให้มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญชำนาญทั้ง 4 ทักษะคนไทยจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระดับโลกเพราะทักษะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 คนทั้งโลกล้วนให้ความสนใจและกำลังพัฒนาตนเองดังเช่นที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้จบลง