ต่างวัย การทำงานร่วมกัน คณะทำงานจะมีขนาดใหญ่มากน้อยเท่าไรย่อมทำให้ความหลากหลายยิ่งมากตามไปเท่านั้น โดยเฉพาะการทำงานกับกลุ่มคนที่มีหลายช่วงวัยหรือที่เรียกว่า Generation ความท้าทายย่อมยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย การที่มีคนที่มีความคิดหลากหลายมาอยู่ร่วมกัน จะทำให้กลุ่มงานมีแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่าง และอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานได้ง่าย
การจะระบุว่า คณะทำงานที่มีกลุ่มคนจำนวนน้อยกับจำนวนมากอย่างไหนจะดีกว่ากันนั้น เป็นเรื่องตัดสินใจได้ยาก เพราะองค์ประกอบร่วมแตกต่างกัน แม้ว่าคณะทำงานกลุ่มเล็ก ๆ แต่ถ้าแนวคิดของคนในกลุ่มแตกต่างกันมากย่อมจะทำให้การทำงานไม่สอดคล้องกัน ตรงกันข้ามกับคณะทำงานที่มีขนาดใหญ่ แต่สมาชิกทุกคนมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันย่อมจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
ยุคการทำงานปัจจุบัน หลายองค์กรประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนมากกว่าขั้นตอนการทำงาน เพราะปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างช่วงอายุของคนมีมากขึ้น (Generation) เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ปัญหาที่ดีคือการทำความเข้าใจคนในแต่ละ Generation หรือแม้แต่ตัวคุณเองที่เผลอ ๆ ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำมาว่า อยู่ใน Generation ไหน และ Generation นั้น ๆ เป็นอย่างไร ดังนั้น ควรพยายามทำความเข้าใจตนเองเพื่อเรียนรู้คนอื่นให้ได้ เมื่อเข้าใจตนเองและตัวตนของคนในแต่ละ Generation ย่อมจะมองเห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละกลุ่มและจะช่วยเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณานำเอาข้อดีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่องานและต่อองค์กร
ทำอย่างไรจึงจะทำให้คน ต่างวัย หรือ หลาย Generation สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีอุปสรรค และมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากทุกคนให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน กลุ่มคนทำงานในยุคปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 Baby Boomer (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2489 – 2507)
ถือเป็นช่วงวัยที่อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฉะนั้นคนกลุ่มนี้คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 53 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้จะมีวิถีการทำงานที่มีระเบียบ เคร่งครัด ประหยัด อดออม และรอบคอบ
คนกลุ่ม Baby Boomer จะทำงานแบบเคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความอดทน ให้ความสำคัญกับระดับความอาวุโส เน้นการทำงานหนักและการทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความจงรักภักดีต่อองค์กรสูงและคนในกลุ่มนี้จะไม่เน้นการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ
กลุ่มที่ 2 Generation X (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2508 – 2522)
ถือเป็นคนทำงานที่เกิดมาพร้อมกับพัฒนาการของวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์ เพลงฮิปฮอป ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นคนง่าย ๆ ไม่เน้นความเป็นทางการเท่าไหร่นัก
ในแง่ของการทำงานนั้น Generation X เป็นกลุ่มคนที่ไม่เน้นทุ่มเทให้กับการทำงานทั้งหมด แต่จะเน้นให้ความสำคัญทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว การทำงานเน้นการทำงานคนเดียว ไม่ค่อยชอบพึ่งพาใคร แต่ก็มีความคิดที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟังคำแนะนำเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการทำงานของตนเอง
กลุ่มที่ 3 Generation Y (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2523 – 2540)
คนในกลุ่มนี้จะเกิดมาท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับอินเตอร์เน็ต ดังนั้นคนในกลุ่มนี้จึงมีความคิดสร้างสรรค์ ชอบงานด้านไอที มองโลกในแง่ดี สามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ค่อยมีความอดทนเท่าไหร่นัก
คนกลุ่ม Generation Y เป็นกลุ่มคนที่มีความเป็นตัวเองสูง ไม่ค่อยชอบอยู่ในกรอบ ไม่ชอบเงื่อนไข แต่ในการทำงานนั้นพวกเขาสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็ชอบทำงานที่มีความชัดเจนว่ามีผลต่อตนเองและองค์กรอย่างไร
กลุ่มที่ 4 Generation Z (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2540 เป็นต้นไป)
คนในกลุ่มนี้จะเติบโตมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ดังนั้นคนในกลุ่มนี้จึงสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดายและเรียนรู้ได้เร็ว และค่อนข้างมีพฤติกรรมที่เสพติดสื่อสังคมออนไลน์โซเชียลมีเดียต่างๆ
Generation Z เป็นกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยศึกษาและค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในไม่ช้า คนกลุ่มนี้มีความเป็นตัวเองสูงมาก เน้นการทำงานที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ค่อยชอบเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ไม่ชอบพิธีการ แต่มีความสามารถในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดี
หลักการทำงานกับคนในแต่ละ Generation
ในปัจจุบันคนทำงานกลุ่ม Baby Boomer มักจะเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัท เมื่อต้องคุยงานคนทำงานกลุ่มนี้ ต้องมาคุยงานกันแบบเห็นหน้าเห็นตากัน มากกว่าที่จะคุยทางออนไลน์ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้เติบโตมาในยุคออนไลน์ คนกลุ่มนี้จะเป็นคนทำงานที่ชอบสั่งการ จึงมักจะไม่ค่อยลงรอยกับคนทำงานกลุ่ม Gen Y การทำงานร่วมกันคนทำงานกลุ่มนี้ จึงจะต้องใช้เหตุผลมาสนับสนุน เมื่อคำสั่งการของคนกลุ่มแต่เราไม่เห็นด้วย
ในขณะที่เหล่า Baby Boomer ค่อย ๆ เกษียณจากโลกของการทำงานไป เหล่า Generation X คือผู้สืบสานรุ่นต่อไป ที่ชอบความชัดเจน กระชับไม่อ้อมค้อม ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีความเข้าใจในเทคโนโลยีพอประมาณ ฉะนั้นจึงยอมรับการสื่อสารงานผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ หรือไลน์ แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องที่เป็นทางการ หรือเรื่องจริงจัง Generation X มองว่าสมควรที่จะต้องพูดคุยกันต่อหน้า เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนในกลุ่มนี้คือไม่ชอบให้ใครบงการ ลักษณะการทำงานที่คนกลุ่มนี้ชอบคือการสั่งงานโดยให้โจทย์ปลายเปิด เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง พอ ๆ กับแนวการทำงานที่เน้นความสมดุลของชีวิต
คนในกลุ่ม Generation Y จะชื่นชอบความท้าทายใหม่ ๆ ดังนั้นการได้ลองท้าทายกับบทบาทใหม่ ๆ หรือการสลับทำนั่นทำนี่ในเวลาเดียวกันพวกเขาจะรู้สึกกระตือรือร้นที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาจะส่ายหน้ากับกฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป หากต้องทำงานกับคนกลุ่มนี้ควรสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความผ่อนคลายเป็นกันเอง เอื้อต่อการให้อิสระในการทำงานและที่จะละเลยไม่ได้เลยคือการตอบสนองกลับ (Feedback) อย่างรวดเร็ว เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ชอบรออะไรนานและไม่ชอบความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ฉะนั้น เมื่อสั่งงานไปอย่าลืมบอกผลดีของงานนั้นให้พวก Generation Y ทราบ เพราะเมื่อพวกเขาทราบความสำคัญของงานพวกเขาพร้อมจะทุ่มเทให้งานนั้นทันที
ถือได้ว่าคน Generation Z คือ น้องใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังเวียนแห่งโลกการทำงาน ที่พวกเขามักจะมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน มีความมั่นใจสูง ฉะนั้น ในการทำงานกับคนกลุ่มนี้ต้องเข้าใจว่าพวกเขามั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง เรียนรู้ได้เร็ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างมาก ฉะนั้นบางครั้งคน Generation Z จึงมักจะไม่รอคำสั่งแต่จะคิดแล้วเสนอเองเลย ฉะนั้น หัวหน้างานจึงควรเน้นสั่งให้น้อย ฟังให้เยอะ พร้อมรับฟังพวกเขาอย่างจริงใจ และเน้นวัดคุณค่าของพวกเขาที่ผลงาน มากกว่าเรื่องส่วนตัว