การจัดการวงสนทนาที่ดีแบบ Dialogue

การจัดการวงสนทนาที่ดีแบบ Dialogue

การจัดการวงสนทนาที่ดีแบบ Dialogue  หลักปฏิบัติ Dialogue คือ ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้ได้ยิน มีความเป็นอิสระ และผ่อนคลาย และทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้นำ ไม่มีผู้ตาม การจัดการวงสนทนา ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ซึ่ง อาจารย์ โสฬส ศิริไสย์ ได้แนะนำแนวทางแบบรวบรัดภายใต้คำพูดสั้นๆว่า SPEAKING ดังนี้

S Setting หมายถึง ฉาก สถานที่ และเวลาของการทำ Dialogue ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กล่าวคือ การจัดสถานที่ ควรจัดให้นั่งเป็นวงกลม ให้ทุกคนในวงสนทนาหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้สามารถมองเห็นหน้า ซึ่งกันและกันได้หมดทุกคน และให้มีพื้นที่ว่างพอที่ให้ทุกคนจะสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก
ถ้าหากมีทิวทัศน์ที่สวยงานที่เป็น “ ต้นทุน ” ทางธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว ควรใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเปิดม่านเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ และปลดปล่อยอารมณ์และเป็นที่พักสายตา

P Process หมายถึง กระบวนการ Dialogue เป็นเรื่องของกระบวนการ (Process Determinism) ซึ่งเป็นไปตามเหตุและปัจจัยไม่สามารถคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ผู้เข้าร่วมวงสนทนาต้องมีสติอยู่เสมอ สิ่งที่พูดไม่มีการสรุปหรือสร้างความคิดรวบยอด เพื่อหาคำตอบสุดท้าย และให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่ถ้าผู้เข้าร่วมวงเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการ จะเห็นว่า คำตอบจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และเป็นหน้าที่ของผู้เข้าร่วมวงที่จะทำความรู้จักกับคำตอบนั้นด้วยตนเอง คำตอบบางอย่างรู้ได้เฉพาะตัว อธิบายให้ใครฟังไม่ได้

E Ends หมายถึง เป้าหมาย Dialogue ไม่อนุญาตให้แต่ละคนนำเป้าหมายส่วนตัว หรือวาระส่วนตัวเข้าไปใช้ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการฟัง เรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้ผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงมิให้มีการตั้งผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า ไม่นำสิ่งที่เชื่ออยู่ในใจออกมาโต้แย้งประหัตประหารซึ่งกันและกัน Dialogue จึงเหมาะสมสำหรับเริ่มต้นทำงานที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หรือต้องการแก้ไขปัญหาที่ยากร่วมกัน Dialogue จึงไม่มีการโอ้อวด ไม่แนะนำสั่งสอน หรือหวังจุดประกายให้คนอื่นคิดตาม รวมทั้งไม่โต้แย้ง หรือยกยอปอปั้น หรือตำหนิติเตียน

A Attitude หมายถึง การมีเจตคติที่ดีต่อคนอื่น มีจิตใจที่เปิดกว้าง มีความสุขที่ได้ยินได้ฟังและได้เรียนรู้จากผู้อื่น Dialogue คือชุมชนสัมมาทิฐิ ไม่เริ่มต้นด้วยการประณามคนอื่น การเสนอแนะให้คนอื่นทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือการพูดถึงปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การโต้เถียง การปกป้อง และการมุ่งเอาชนะกัน

K Key Actor หมายถึง คณะทำงานที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน สร้างฉาก และค้นหาผู้ที่เหมาะสมจะมานั่งพูดคุยกัน เพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรวมความถึง Facilitator ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามหลักการของกระบวนการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที โดยสุภาพและไม่ทำให้ผู้ร่วมวงสนทนารู้สึกเสียหน้า

I Instrument หมายถึง เครื่องมือของ Dialogue คือ จะต้องช่วยลดทอนความเป็นทางการของการใช้ภาษาให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงถ้อยคำแบบพิธีการ เช่น ขออนุญาตพูด เพราะการพูดนี้ไม่ต้องขออนุญาตใคร หากผู้พูดคนก่อนพูดจบและมีความเงียบเกิดขึ้นก็สามารถแทรกตนเองขึ้นมาพูดได้ โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่จะต้องระวังคือพูดสิ่งใดออกไป สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาเข้าสู่ตนเอง ทำให้รู้สึกได้ภายหลัง

N Norms of Interaction หมายถึงบรรทัดฐาน ของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ทั้งในแง่ของคำพูดและการปฏิบัติ กล่าวคือ จะต้องหลีกเลี่ยงคำพูดและการประทำทางวาจาใดๆที่แสดงว่าตนเองเหนือกว่า หรือด้อยกว่าคนอื่น วัจนะกรรมที่แสดงความเหนือกว่าได้แก่ คำพูดแบบแนะนำ อบรม สั่งสอน โอ้อวด ยกตนข่มท่าน ส่วนคำพูดที่แสดงความด้อยกว่าคนอื่น เช่น คำพูดแบบวิงวอนร้องขอ คำแนะนำและความช่วยเหลือจากผู้อื่น

G Genre หมายถึง ประเภทของการพูดคุย Dialogue ไม่ใช่การพูดคุยแบบพิจารณาถกเถียงหรือโต้แย้ง ไม่ใช้การบรรยายไม่ใช่การประชุมที่มีประธานทำหน้าที่วินิจฉัย สั่งการ หรือมีเป้าหมายวาระไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการพูดคุยแบบเปิด ไม่มีเป้าหมาย และวาระ เพื่อสร้างความหมายร่วมกัน แต่หากเป้าหมายจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังก็คงไม่มีใครห้าม แต่ต้องเกิดภายใต้บริบทของการสร้างความหมายร่วมกัน

การจัดการวงสนทนาที่ดีแบบ Dialogue ไม่ใช่เป็นคำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อนบนโลกใบนี้ได้ทุกเรื่อง แต่ Dialogue เป็นเพียงการเริ่มต้นของ “สัมมาทิฐิ” เพื่อการแก้ปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การทำ Dialogue จึงควรทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ คนในวงสนทนาจะเป็นกระจกเงาให้กันและกัน อย่างปราศจากอคติ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนเรียนรู้ตนเอง และแก้ไขปรับปรุงตนเอง เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข สามารถทำงานที่ยากๆที่ไม่สามารถจัดการด้วยวิธีการธรรมดาได้

อ้างอิง
โสฬส ศิริไสย์. 2548. วิธีการสนทนาแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์ และการเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง. สำนักงานทรานส์ทีม เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.