กระบวนการมีส่วนร่วม

กระบวนการมีส่วนร่วม

ชื่อหลักสูตร กระบวนการมีส่วนร่วม
หลักการและเหตุผล
กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นการเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะดำเนินกิจกรรมการพัฒนาให้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มเศรษฐกิจ สหกรณ์ และเชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายประสานการทำงานร่วมกันเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะว่าการพัฒนาทั้งหลายจะเกิดขึ้นต้องอาศัยพลังของความสามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมไม้ร่วมมือของคนในสังคมร่วมกัน ตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ จนกระทั่งถึงสังคม และเมื่อเกิดกระบวนการทำงานร่วมกันแบบเชื่อมร้อย เชื่อมโยง เชื่อมใจย่อมส่งผลให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นสังคมอุดมสุขอย่างยั่งยืน

การมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิด ริเริ่ม การพิจารณาตัดสินใจการร่วมปฏิบัติและร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ อันมีผลกระทบถึงตัวประชาชนเอง การมีส่วนร่วมเป็นการร่วมมือของประชาชน ไม่ว่าปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนที่เห็นพ้องต้องกัน
และเข้ามาร่วมรับผิดชอบเพื่อดำเนินการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ กระทำผ่านกลุ่มหรือองค์การ เพื่อให้บรรลุถึงความเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์ การมีส่วนร่วมเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคล ได้มีส่วนช่วยเหลือระหว่างกัน ด้วยจิตใจและอารมณ์ของแต่ละบุคคลในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติงานและร่วมรับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมในการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของสังคม

การมีส่วนร่วมของประชาชน คือ กระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจแก้ปัญหาของตนเอง ร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้และความชำนาญร่วมกับวิทยากรที่เหมาะสม และสนับสนุนติดตามผลการปฏิบัติงานขององค์กรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง จึงหมายถึง การที่ประชาชนหรือชุมชนพัฒนาขีดความสามารถของตนเองในการจัดการและควบคุมการใช้ทรัพยากร และปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในสังคมเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพทางเศรษฐกิจและสังคม และการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับโครงการที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) เป็นแนวคิดใหม่ที่มีรากฐานมาจากแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย เป็นกระแสของความคิดที่ทำให้ผู้คนในสังคมตระหนักดีว่า การดำเนินกิจการใดๆ ก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้เสียควรเป็นผู้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะความคิด การปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ ในยุคปัจจุบัน จึงต้องประยุกต์แนวคิดให้ตอบรับกับแนวคิดประชาธิปไตย โดยต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน และเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มที่มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้น การพัฒนาจึงเริ่มจากความต้องการของชุมชนแทนความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ

การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจำเป็นต้องใช้วิธีการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมในการนำพาข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐบาลหรือเอกชน ไปสู่ประชาชนผู้เป็นเป้าหมาย สิ่งสำคัญในการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน หรือชุมชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องการสื่อสารนั้น ต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะถือว่าเป็นส่วนช่วยให้กระบวนการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ หรือแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างสมาชิกในสังคมเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น กล่าวคือ ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาชุมชน ให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาของสังคมและประเทศชาติได้

วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเรียนรู้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน

2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็นความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการพัฒนาและกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน
3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถดำเนินการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อนำไปสู่สังคมเป็นสุขได้อย่างเป็นรูปธรรม

รายละเอียดหลักสูตร

1.หลักการของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
– ความคิดพื้นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
– องค์ประกอบของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม
– เครื่องมือการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

2.การเรียนรู้ด้วยการกระทำ (Action Learning)
3.เป้าหมาย 6 ประการของการส่งเสริมพลังความรู้ (Knowledge Activist)
4.การจัดการความรู้ในชุมชน
– ความหมาย แนวทางการจัดความรู้ในชุมชน
– การถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

ติดต่อสอบถาม