กฎ 4 ประการเพื่อสานงานระหว่าง Generation

กฎ 4 ประการเพื่อสานงานระหว่าง Generation

กฎ 4 ประการเพื่อสานงานระหว่าง Generation

ความหลากหลายของบุคลากรสามารถนำมาซึ่งปัญหาที่ต้องจัดการและแก้ไข ความเชื่อหรือมุมมองที่ไม่ลงรอยอาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ระดับศีลธรรมของบุคลากรในที่ทำงานโดยรวมสามารถลดลง หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติงานก็อาจจะต่ำลงเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้คำว่าความหลากหลายกลายเป็นอุปสรรคต่อองค์กร ยิ่งไปกว่านี้ ปัญหาอาจจะร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อความขัดแย้งมีสาเหตุมาจากอคติ ความรู้สึกไม่ชอบอีกกลุ่มโดยไม่มีเหตุผล หรือการใช้อำนาจทางสังคมต่อคนกลุ่มน้อย

แต่ในเวลาเดียวกัน องค์กรหลายแห่งกลับมองความหลายหลากเป็นโอกาสในการสร้างประโยชน์ที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ในมุมมองนี้ ความแตกต่างนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และ ไอเดียที่แปลกใหม่ อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพราะได้ผ่านการกลั่นกรองมาจากหลายมุมมอง การมีส่วนร่วมต่อการทำงานสูงขึ้น และยังทำให้ชื่อเสียงขององค์กรดีขึ้นได้ เมื่อความหลากหลายถูกรับรู้ไปในทางบวกดังตัวอย่างที่กล่าวมา องค์กรก็จะพยายามเพิ่มหรือรักษาความแตกต่างของบุคลากร

องค์กรสามารถสร้างความเหมือนทางค่านิยมให้กับบุคลากรได้โดยผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน และหล่อหลอมบุคลากรให้เข้าใจและยึดถือค่านิยมขององค์กรร่วมกัน เพื่อให้บุคลากรทุกคนมีค่านิยมที่เหมือนกัน ค่านิยมในวัฒนธรรมองค์กรจะช่วยให้บุคลากรมีความเชื่อ ชี้นำพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติ และสร้างความหมายของการทำงานร่วมกันได้ โดยอาศัย 4 ประการ คือ

กฎข้อที่ 1 ร่วมด้วยช่วยกันแสดงความคิดเห็น

          เมื่อต้องทำงานร่วมกันควรให้ทุกคน ทุก Generation ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าแผนงานนั้นเป็นอย่างไร การช่วยกันแสดงความคิดเห็นจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น แม้ว่าจะมีคนหลาย Generation อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็จะไม่เกิดอุปสรรคในการทำงาน หากทุกคนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แล้วลงความเห็นว่าการทำงานควรเป็นไปในทิศทางใด

กฎข้อที่ 2 ทำงานอย่างรู้หน้าที่

          การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเริ่มต้นด้วยการรู้จักหน้าที่ของตัวเอง การที่มีรุ่นพี่อยู่ในทีมไม่ได้หมายความว่ารุ่นน้องจะต้องทำงานมากกว่า ทุกคนต้องช่วยกันทำงาน โดยแบ่งงานกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหน้าที่ของแต่ละคนเป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกัน ทุกคนต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน รุ่นพี่ควรช่วยแสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นของรุ่นน้อง เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม ความเสมอภาคและยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น จะทำให้คนทำงานต่าง Generation อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาในการทำงาน

กฎข้อที่ 3 ตักเตือนอย่างเป็นเหตุเป็นผล

          แน่นอนว่าไม่มีใครอยากถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือตักเตือน แต่หากเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริงก็ไม่ควรต่อต้านหรือขัดขืน เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าวเท่านั้น แต่ยังจะทำให้การทำงานมีปัญหาได้ในภายหลัง เมื่อรุ่นน้องทำความผิดแล้วถูกรุ่นพี่ตักเตือน ควรรับฟังอย่างเปิดใจกว้าง และรุ่นพี่เองก็ควรตักเตือนอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่าใช้อารมณ์หรือความรู้สึกเป็นใหญ่

กฎข้อที่ 4 เคารพความแตกต่าง

          การยอมรับในความแตกต่างเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนหลาย Generation สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยต้องยอมรับว่าความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้ทำให้เราทำงานร่วมกันไม่ได้ แต่การไม่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดต่างหากที่จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน คนที่เคยทำงานมาก่อนต้องยอมรับความคิดเห็นของรุ่นน้อง โดยที่รุ่นน้องเองต้องไม่คิดว่าความคิดของรุ่นพี่เก่าหรือล้าสมัย แต่ต้องยอมรับในประสบการณ์ในการทำงานที่มีมากกว่า

          การที่จะให้คนหลาย Generation สามารถทำงานร่วมกันได้ ทุกคนต้องเปิดใจยอมรับความแตกต่าง และต้องไม่มีอคติต่อกัน การที่มัวแต่คิดว่า ความคิดเห็นของคนอื่นดูไม่น่าเชื่อถือหรือไม่มีเหตุผลมากพอ จะทำให้เราไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ แต่ยังจะทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานอีกด้วย