นักพูดที่พึงประสงค์ตามแนวแห่งพุทธะ จากประสบการณ์การพูดของผม นับแต่การเข้าร่วมการแข่งขันโต้คารมมัธยมศึกษาทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จวบจนเดินทางสู่อาชีพนักพูดกับการเป็นวิทยากรให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ นับเวลาจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาเกินกว่า 20 ปี ผมไม่เคยหยุดความสงสัยใคร่รู้
ผมเรียนรู้การพูดจากการปฏิบัติด้วยการฝึกการพูดแบบโทสมาสเตอร์ที่สโมสรฝึกการพูดนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกจนจบหลักสูตรขั้นสูงผมค้นคว้าศึกษาเอกสาร ตำราวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการพูดในที่ชุมชนของเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) ที่สอนกฎ 4 ข้อของการเป็นนักพูดที่ดี คือ เรียนรู้จากประสบการณ์ผู้อื่น ตั้งจุดหมายไว้ที่ตรงหน้า กำหนดจิตไว้ที่ความสำเร็จ และฝึกพูดในทุกโอกาส
นอกจากนี้ ผมยังศึกษาหลักการพูดจากงานวิชาการของรองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท คือ หลักและปรัชญาวาทวิทยา, วิวัฒน์วาทวิทยาสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยและการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจ ศึกษาวิวัฒนาการพูดนับจากวาทวิทยาในสมัยกรีกโบราณ สมัยกรีกโบราณถึงกรีกยุคกลาง สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ สมัยยุคศตวรรษที่ 20 เรียนรู้จริยธรรมในวาทวิทยา เรียนรู้ขงจื๊อกับหลักวาทศาสตร์ ศึกษาวาทวิทยาสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงก่อน พ.ศ.2475 การพูดหลัง พ.ศ.2475 ถึง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จนรู้จักนักพูดระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลโต้, อริสโตเติล, ซิเซโร, ลองไจนัส, โทมัส วิลสัน, เดส์คาร์ตและโธมัส เดอ ควินซี เป็นต้น
และเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนค้นพบว่า แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาพุทธเป็นนักพูดสุดประเสริฐที่ควรศึกษาแนวทางและหลักการพูดเป็นที่สุด เช่น การที่พระพุทธเจ้าตรัสเพียงว่า เราหยุดแล้ว ท่านหยุดหรือยังแก่องค์คุลิมาล เพียงแค่นี้ถึงกับทำให้จอมโจรเปลี่ยนใจกลายเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร และความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับเหล่าพุทธสาวกข้อหนึ่ง คือ ความเป็นตถาคต คือ ผู้มีพระวาจาที่แท้จริง หมายว่า พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นจริงเสมอไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะตรัสเรื่องเดิมนี้ที่ใด เรื่องเดิมนี้ยังคงเป็นเรื่องเดิมไม่เปลี่ยนไป
พุทธศาสนากำหนดแนวทางของการเป็นนักพูดที่พึงประสงค์ไว้ ปรากฏเด่นชัดในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม 11 ข้อ 221 หน้า 22 ระบุถึงผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว ดังนี้
1. รู้เหตุ
นักพูดที่ดีต้องรู้เหตุ คือ รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้หลักความจริง รู้ต้นตอของผล รู้ในเนื้อหาสาระของเรื่องที่จะพูด รู้แจ้งตลอดในทฤษฎีและการปฏิบัติในศาสตร์และศิลป์ของตน
2. รู้ผล
นักพูดที่ดีต้องรู้ผล คือ รู้จักเนื้อหาสาระ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้วัตถุประสงค์ของการพูดที่แน่นอนชัดเจน (Goal oriented) และรู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการพูด การกระทำ ซึ่งการพูดนั้นควรที่จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์เกิดผลได้จริง
3. รู้จักตนเอง
นักพูดที่ดีต้องรู้ตนเอง คือ รู้ว่าตนคือใคร มีความพร้อมหรือไม่พร้อมอย่างไร การรู้จักตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เมื่อรู้จักตนเองดีย่อมจะนำไปสู่การยอมรับตน (Self Acceptance) แล้วจะเปิดเผยตน (Self Disclosure) สามารถสื่อสารภายในตนได้อย่างดียิ่ง ผู้ที่สามารถสื่อสารภายในตนได้ดีจะเป็นผู้ที่สามารถรับรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์และมีวิจารณญาณที่สุขุม รอบคอบ มีเหตุ มีผล ทำให้การพูดมีประสิทธิภาพยิ่ง
4. รู้จักประมาณ
นักพูดที่ดีต้องรู้จักประมาณ ประมาณ คือ ความพอดี การพูดบางอย่างหากมากเกินไป ผู้ฟังก็รับไม่ได้ หากน้อยไปก็ไม่เพียงพอ การรู้จักประมาณในการสื่อสาร (Frequency) ประมาณการเนื้อหาการพูดให้ดีเหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง คือ ไม่ส่งสารที่ซ้ำซากมากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ ต้องรู้จักประมาณจำนวนผู้เข้าฟังด้วย
5. รู้จักเวลา
นักพูดที่ดีต้องรู้จักประมาณเวลา คือ ต้องรู้จักเวลาในการสื่อสารว่า เวลาไหนควร เวลาไหนไม่ควร หากผู้พูดไม่รู้จักเวลาในการสื่อสาร แม้ว่าจะเป็นการสื่อสารภายในตน การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือการสื่อสารมวลชน นอกจากการสื่อสารนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว บางครั้งอาจจะมีข้อพิพาทหรือข้อบาดหมางใจตามมา หากย้อนดูประวัติศาสตร์ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีชื่อเสียงของโลกยังต้องได้รับโทษจากการประกาศสัจธรรมหรือทฤษฎีความรู้ของตนในเวลาที่ไม่เหมาะสม
6.รู้จักชุมชนบริษัท
นักพูดที่ดีต้องรู้จักชุมชนสังคม ตามหลักวิชาการทางนิเทศศาสตร์เรียกว่ากลุ่มผู้รับสารเป้าหมาย ผู้พูดต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารจึงจะประสบผลสำเร็จ ยิ่งรู้จักมากเท่าไหร่ การพูดยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมะของพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าพระองค์ทรงรอบรู้ผู้รับสารอย่างรู้แจ้งตลอด ทรงรู้ไปถึงภูมิหลังหรือเก่ากรรมตั้งแต่ชาติก่อนของผู้รับสาร ผู้ส่งสารที่เป็นปุถุชนธรรมดาก็มีความจำเป็นต้องรู้กลุ่มเป้าหมายว่าเขาเหล่านั้นเป็นใครต้องรู้จักเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ ยิ่งรู้กลุ่มเป้าหมายมากการสื่อสารยิ่งมีประสิทธิภาพมาก
7. รู้จักบุคคล
นักพูดที่ดีต้องรู้จักปฏิบัติ คือ รู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล รู้จักว่า ผู้ฟังแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีลักษณะจำเพาะเป็นของตนเอง มีจริต มีอัธยาศัย มีศักยภาพในการรับฟังมากน้อยเพียงใด การที่ผู้พูดรู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคลได้นั้น ทำให้สามารถแยกแยะผู้ฟังได้ นักวิชาการสื่อสารแถบทวีปตะวันตกได้จำแนกกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กลุ่มที่เห็นด้วย กลุ่มเป็นกลาง กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
นักพูดที่พึงประสงค์ตามแนวแห่งพุทธะ หากพิจารณาดูจากคุณสมบัติ 7 ประการสู่การเป็นนักพูดที่พึงประสงค์ตามแนวแห่งพุทธะ นี่คือ หลักธรรมอันประเสริฐ เป็นธรรมะของสัตบุรุษ ธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติของคนดี คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง คนที่มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือ มีพฤติกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือเรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นผู้มีจิตสงบระงับจากบาปอกุศลธรรม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ผมใช้หลักธรรมดังกล่าวของพระพุทธเจ้าในการเป็นนักพูด พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วกว่า 2,558 ปี แต่หลักการคำสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงคงอยู่ ขอเพียงมีศรัทธาในสัจจะความจริงและมีปัญญา คือ รู้จักฟังคิดและลงมือทำเป็นเครื่องกำกับตนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นเกินไป ไม่งมงายเกินไป น้อมนำเอาหลักธรรมะนั้นมาประพฤติปฏิบัติเพื่อก้าวสู่การเป็นนักพูดที่ดีได้ เป็นนักพูดที่พึงประสงค์ตามแนวแห่งพุทธะ
ธรรมะทั้ง 7 ข้อนั้น คือ สัปปุริสธรรม 7 นั่นเอง