คนคุณเป็น คนทำงานประเภทไหน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ย่อมอยู่ร่วมอาศัยในสังคมที่มีลักษณะเหมือนกัน สังคมที่คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันและมีความคิดความเห็นแบบเดียวกัน การทำงานในองค์กรถือเป็นสังคมหนึ่งที่รวมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน มีความสามารถ ความเก่งกาจเอกอุแตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานร่วมกันย่อมมีความคิดเห็น มีมุมมองที่แตกต่างกัน การยอมรับนับถือระหว่างกันย่อมจะสร้างสังคมในการทำงานให้เป็นสังคมแห่งความปกติสุข หากแต่กลุ่มคนบางคนกลับไม่ยอมรับยอมพัฒนาตนเอง เป็นกลุ่มคนที่มีความดักดาน ฝักใฝ่แต่การนินทาว่าร้าย เอารัดเอาเปรียบ ใส่ร้ายป้ายสี ถือทิฐิเป็นที่มั่น ไม่รู้ทิศทางขององค์กร ไม่เก่งแต่อวดดี ไม่รู้จริงในงานที่ทำ คอยพร่ำสั่งงานมากกว่าสอนงาน เป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึง ปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตคู่ถึงจะไปด้วยกันได้ดี ประสบความเจริญหรือมีมงคลชีวิตโอวาทหลักธรรมะ 4 ข้อ ซึ่งผู้เขียนถือว่า เพื่อนร่วมงานนั้นสำคัญพอๆกับคนรัก เพราะในชีวิตของเราย่อมต้องอาศัยอยู่ร่วมกันคนทั้งสองกลุ่มนี้เป็นสำคัญ กล่าวคือ
- สมสัทธา (to be matched in faith) คือ พนักงานต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน มีทัศนคติในการมองโลก มองชีวิต ไปในทางเดียวกัน เข้าใจทิศทางขององค์กร เข้าใจยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนขององค์กร ดังนี้แล้วย่อมจะทำให้เข้าใจกันง่ายและไม่มีความขัดแย้งกัน
- สมสีลา (to be matched in moral) คือ มีศีลเสมอกัน มีหลักในการปฏิบัติงานเหมือนกัน รู้จักรับและรับชอบเหมือนๆกัน ซื่อสัตย์ ไม่โกหกโป้ปดกัน มีความจริงใจต่อกัน เป็นคนปกติเฉกเช่นเดียวกัน
- สมจาคา (to be matched in generosity) คือ มีจาคะเสมอกัน มีใจเมตตากรุณา โอบอ้อมอารี เหมือนกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นอกเห็นใจผู้ร่วมงาน
- สมปัญญา (to be matched in wisdom) คือ มีปัญญาเสมอกัน มีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกันมีความเฉลียวฉลาดพอๆกันความคิดความอ่านต้องไปกันได้ มีการใช้วิจารณญาณในการมองปัญหา แก้ปัญหา และตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน
หากการคัดเลือกพนักงานสามารถเลือกคนที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันได้สอดคล้องตามหลักพุทธธรรมย่อมจะส่งผลให้องค์กรมีความสามัคคี มีความเข้าใจร่วมกัน ไม่เกี่ยงงานกัน ไม่อวดดีอวดเด่นกัน ความสุขจะเกิดขึ้นแก่บุคลากรขององค์กรอย่างแน่นอน
หากแต่ความเป็นจริงหาใช่ดังที่กล่าวไม่
ลำดับนั้นพระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ย่อมแสดงธรรมโปรดแก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง และทรงพิจารณาต่อไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณว่า จะมีผู้ใดเข้าถึงพระธรรมคุณที่ตรัสรู้ได้บ้างหรือไม่ ทรงเห็นว่า บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางจำพวกสอนได้ บางจำพวกสอนไม่ได้
พระพุทธองค์ได้ทรงตรึกตรอง ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จึงยังทรงมิได้รับคำทูลอาราธนาทีเดียว แต่ได้ทรงพิจารณาโดยพระญาณก่อนว่า เวไนยสัตว์ นั้นจำแนกเหล่าที่จะรองรับพระสัทธรรมได้เพียงใด จำนวนเท่าใด ทรงจำแนกด้วยพระญาณว่าเหล่าเวไนยสัตว์บุคคลที่จะรับพระสัทธรรมได้และไม่ได้ มีอยู่ 4 จำพวก คือ
- อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว
- วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจะสามารถรู้ และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า
- เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่ม อยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า
- ปทปรมะ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร
วันนี้ ลองกลับไปมองดูคนในองค์กรของท่านผู้อ่านดูเถิด ลองตรึกตรองด้วยปัญญา ลองพิจารณาด้วยสติว่าคนในองค์กรของเรามีสักกี่คนที่เป็นกลุ่มพวกที่สติปัญญาเฉลียวฉลาด และกลุ่มคนกลุ่มไหนเป็นกลุ่มคนที่ไร้สติปัญญา หากแต่การจะพิจารณาว่า ใครเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมิได้พิจารณาจากใบปริญญาบัตรที่แสดงถึงคุณวุฒิ อายุงานที่แสดงถึงวัยวุฒิ แต่ควรพิจารณาจากการคิดดี พูดี ทำดีต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กรหรือการแสดงออกถึงธรรมวุฒิ
หยุดเถิด หยุดมืดบอดต่อการพัฒนาตนเอง หยุดทำร้ายองค์กรด้วยความหยิ่งยโส หยุดนินทาว่าร้ายเพื่อนร่วมงาน หยุดทิฐิโง่ที่อยากเห็นความล้มเหลวของเพื่อนร่วมงาน หันหน้ากลับมาช่วยกันผลักดันองค์กรให้เจริญก้าวหน้า ให้มีความสุขในการทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้แก่องค์กร มองพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้แก่เพื่อนร่วมงาน มุ่งมาดปรารถนาให้เพื่อนร่วมงานพ้นทุกข์ มีความสุข ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี และหยุดลำเลิกบุญคุณต่อผู้ที่เราเคยให้ความช่วยเหลือ กลับมามองตนเองให้เห็น เห็นเป้าหมายในการทำงานของตนเอง เป้าหมายขององค์กร ความทุกข์ของเพื่อนร่วมงาน ถ้าท่านผู้อ่านไม่เชื่อ หากท่านตอบคำถามสุดท้ายนี้ได้ นั่นย่อมแสดงว่า ท่านพรั่งพร้อมด้วยปัญญาในการทำงานร่วมกันผู้อื่น
คำถามนั้นคือ วิสัยทัศน์ขององค์กรท่าน กล่าวไว้เช่นไร
คนทำงานประเภทไหน ไม่รู้ มีเพียงท่านเท่านั้นที่จะตอบตนเองได้ว่าท่านอยู่ในกลุ่มอุคฆฏิตัญญูหรือปรปทมะ
บุญรักษา