สุนทรียสนทนา

สุนทรียสนทนา

ชื่อหลักสูตร สุนทรียสนทนา (Dialogue)
หลักการและเหตุผล

สุนทรียสนทนา คือ กระบวนการสนทนาที่มุ่งเน้นที่การตรวจสอบกระบวนการคิด และสมมุติฐานของผู้ที่เข้าร่วมการสนทนา และนําสิ่งที่ได้รับจากวงสนทนาไปใคร่ครวญ เปรียบเทียบกับสมมุติฐานเดิมของตน จนกระทั่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการคิดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมวงสุนทรียสนทนา โดยมีหลักการที่สำคัญ คือการฟังอย่างลึกซึ้ง และท้าทายสมมติฐาน โดยพฤติรรมที่จะเกิดขึ้นในวงสุนทรียสนทนา คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง การห้อยแขวนคําตัดสินความ การฟังเสียงตัวตน การอยากรู้อยากเห็น การสืบค้นเบื้องหลังความคิดและสมมุติฐานและการระงับยับยั้งอารมณ์ที่รุนแรง

ในสังคมไทยท้องถิ่นก็มีคำที่บ่งบอกความหมายของการกระทำคล้ายๆกับสุนทรียสนทนาหลายคำ เช่น ภาษาอีสานใช้คำว่า “นั่งโสกัน” ภาษาคำเมืองจะเรียกว่า “นั่งแอ่วกัน” หรือ “นั่งอู้กัน” ภาษาปักษ์ใต้อาจจะเรียกว่า “นั่งแหลงกัน” แม้ในหมู่นักพัฒนาแบบทางเลือกและคนทำงานด้านประชาสังคมกับชุมชนท้องถิ่น ก็มักจะพูดว่า “นั่งจับเข่าคุยกัน” “ล้อมวงคุย” หรือ “เปิดเวที” ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามในการนำวิธีการพูดคุยแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์กลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ ก็มีการข้อสังเกตว่า วิธีการแบบสุนทรียสนทนา เป็นวิถีปฏิบัติของคนสมัยโบราณที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีปฏิสัมพันธ์แบบใกล้ชิด เห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกวัน เช่นที่ปรากฏในวิถีสังคมของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ โดยอ้างจากรายงานของนักมานุษยวิทยา David Bohm บรรยายว่า คนกลุ่มเล็กๆอยู่รวมกันประมาณ 40-50 คน โดยไม่มีการพูดจาพาทีกันอะไรมากมาย ไม่มีการโต้เถียง ไม่มีการสั่งการจากหัวหน้าเผ่า แต่ต่างคนต่างรู้หน้าที่ว่าตนเองต้องทำอะไรในแต่ละวัน เช่นชายหนุ่มรู้หน้าที่เองว่าจะต้องออกไปล่าสัตว์ ผู้หญิงจะต้องออกไปหาอาหารใกล้บ้าน คนที่มีหน้าที่เหมือนกันก็ชวนกันไปทำหน้าที่เหล่านั้น ให้เสร็จลุล่วงไปโดยไม่มีใครมาคอยติดตาม ตรวจสอบ สำนึกในหน้าที่ของแต่ละคน ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของแต่ละคน โดยไม่มีใครบอก โดยไม่เคยมีการประชุมปรึกษาหารือกันให้เสียเวลาเลย วิถีดังกล่าว ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า มนุษย์รู้จักการทำสุนทรียสนทนามาเป็นเวลานานแล้ว

เมื่อโลกมันเปลี่ยน ผู้คนทั้งโลกถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกัน “ความเจริญ” เหล่านี้กลับแยกคน แยกโลกออกจากกันเป็นส่วนๆ ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงคนเข้าหากันกลับกลายเป็นการสิ้นสุดของความสัมพันธ์ทางสังคม ปัจเจกชนเผชิญกับโรคร้ายชนิดใหม่คือ “ความเหงาท่ามกลางฝูงชน” ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่น ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร และจะเข้าไปมีสัมพันธภาพกับคนอื่นๆในโลกนี้ได้อย่างไร

รากเหง้าของปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งคือ การที่ตัวตนของปัจเจกชนในโลกปัจจุบันต่างห่อหุ้มตนเองด้วยอาภรณ์ตำแหน่งหน้าที่ ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม วัยวุฒิ ความเชื่อทางศาสนา และสังกัดทางการเมืองฯลฯ ความสัมพันธ์แบบ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” ขาดหายไป ต่างคนต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันผ่านประเพณีและพิธีการซึ่งถูกอำนาจกำหนดขึ้นภายหลัง ทั้งยังเต็มไปด้วยระบบสัญลักษณ์ที่มีความหมายอันสลับซับซ้อน ปิดกั้นไม่ให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

อย่างไรก็ตาม คนในสมัยใหม่ก็ตระหนักถึงปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหานี้เช่นเดียวกัน พยายามพูดคุย ประชุมปรึกษาหารือกัน แต่ก็มักจะจบลงด้วยข้อสรุปและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องว่างให้คนใช้ข้อสรุปและกฎระเบียบแบบบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของตนเอง David Bohm ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาใดๆก็ตาม จะไม่สามารถแก้ไขได้ โดยใช้ฐานคิดและวิธีการเดิมกับที่สร้างปัญหาเหล่านั้นขึ้นมา ดังนั้น การประชุมพูดคุย ถกเถียง และลงมติเพื่อหาข้อสรุป จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่อาจเป็นการเริ่มต้นของปัญหาใหม่ๆ และคนวิ่งตามไม่ทัน

การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยตรรกะชุดเดียวกับที่สร้างปัญหาขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าหากัน เริ่มตั้งแต่การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องรับส่งวิทยุ โทรทัศน์ รถยนต์ เครื่องบินที่ทันสมัย โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เนตความเร็วสูง แต่ท้ายที่สุดก็พบว่า นวัตกรรมเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ แต่กลับเพิ่มความสลับซับซ้อนและสร้างปัญหาใหม่ๆให้แก่โลกมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นโทรทัศน์กลายเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคจนเกินความจำเป็นพื้นฐาน จอโทรทัศน์ทำให้คนในครอบครัวถูกแยกออกจากกัน มิได้ให้ความสนใจซึ่งกันและกัน รถยนต์ทำให้เกิดมลภาวะ อากาศเสีย โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนตความเร็วสูงทำให้ข้อมูลท่วมโลก คนเล็กๆตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้น เพราะทรัพยากร ธรรมชาติถูกดูดไปใช้ในการพัฒนา สร้างความเจริญ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเมือง เป็นต้น

คนสมัยใหม่ถูกสอนให้ต่างคนต่างคิด และคิดกันอยู่คนละมุม แล้วก็นำเอาสิ่งที่ตนเองคิดและเชื่อไว้ก่อนแล้ว หรือ “ฐานคติ” (presupposition) นั้น ขึ้นสู่เวทีถกเถียง โต้แย้ง มุ่งเอาชนะคะคานกันแบบไม่รู้จริง แต่ในที่สุดก็เป็นผู้แพ้ทั้งคู่ วัฒนธรรมต่างคนต่างคิด จึงทำให้โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงซับซ้อนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจครอบงำทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยวิธีการป่าเถื่อนและงดงามแต่แฝงด้วยเล่ห์กลอันแยบยล เพื่อบีบบังคับ หรือโน้มน้าวให้ผู้อื่นคิดและเชื่อและปฏิบัติตามความต้องการของคนที่มีอำนาจ

ปัญหาของโลกปัจจุบันเป็นปัญหาแบบ “อิทัปปัจยตา” ที่โยงใยถึงกันแบบรอบทิศทาง ซ้ำยังอยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจใดๆอีกด้วย เพราะไม่สามารถคลำหาต้นสายปลายเหตุของปรากฎการณ์ได้ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ การกลับมาแก้ไขที่ “ตนเอง” จึงเป็นทางออกของปัญหาอันสลับซับซ้อนนี้ เพราะตนเอง คือส่วนของปัญหาที่สามารถยื่นมือเข้าไปจัดการได้ง่ายที่สุดสำหรับมนุษย์ ในฐานะของผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านจุดสูงสุดของวิชาการจากโลกตะวันตก และเข้าใจวิธีคิดแบบตะวันออกอย่างลึกซึ้ง David Bohm จึงประกาศความเชื่อในชีวิตบั้นปลายว่า การคิดร่วมกันด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา (dialogue) น่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาอันสลับซับซ้อนของโลกยุคใหม่ เพราะการคิดร่วมกัน การรับฟังซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการถือเขาถือเรา เป็นวิธีการจัดการความแตกต่างหลากหลาย โดยทำให้ทุกฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะร่วมกัน (win-win)

เชื่อกันว่า พลังของสุนทรียสนทนา คือ ความคิดสร้างสรรค์ที่ผุดบังเกิดขึ้น ภายหลังจากที่กระบวนการสุนทรียสนทนาจบสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้ที่ร่วมกระบวนการจะได้ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องมีใครชี้แนะ นอกจากนี้ กระบวนการสุนทรียสนทนาที่เน้นให้เกิดการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) สงบระงับ ไม่ด่วนสรุป (suspension) จะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ร่วมกันแบ่งปันความคิด สร้างความเข้าใจ เปิดรับฟังความคิดเห็นภายในกลุ่มที่แตกต่างจากการ Discussion (มุ่งความคิดเชิงวิเคราะห์)

2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจ เพิ่มการรับรู้ในสมมติฐานของตนเอง นำไปสู่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ
3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมกลุ่มใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำสุนทรียสนทนา และสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการทำงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างมีคุณค่า

รายละเอียดหลักสูตร

การสื่อสารแบบสุนทรียสนทนาคืออะไร
ประโยชน์ ความแตกต่าง คุณค่าของการสื่อสารแบบสุนทรียสนทนา
การสื่อสารแบบสุนทรียสนทนา พื้นฐานการจัดการความรู้ในองค์กร
การสร้างบรรยากาศแบบสุนทรียสนทนา
ขั้นตอนการสุนทรียสนทนา
ฝึกปฏิบัติการสื่อสารแบบสุนทรียสนทนา