ชื่อหลักสูตร จิตสำราญ งานสัมฤทธิ์
หลักการและเหตุผล
จิตสำราญ งานสัมฤทธิ์ จากความสุขคนทํางาน หมายถึง ประสบการณ์และความรู้สึกของคนทํางานที่ต้องการให้ตนเป็นที่ยกย่องและยอมรับจากคนทั่วไป การได้ทำงานในที่ทำงานที่มั่นคง มีความก้าวหน้า การเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง การมีผู้บังคับบัญชาที่มีความเมตตาและกรุณา การมีเพื่อนร่วมงานที่จริงใจ การได้รับสวัสดิการที่พอเพียงและการได้รับความปลอดภัยจากการทำงาน ซึ่งถ้าคนทํางานได้รับสิ่งต่างๆ ดังกล่าวอย่างบ่อยครั้งและต่อเนื่อง คนทำงานก็จะทำงานอย่างมีความสุข
การสร้างความสุขในการทำงาน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การบริหารองค์กรเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น เนื่องจากการที่คนในองค์กรมีความสุขจะเป็นการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ลดความเครียดและความขัดแย้งในองค์กร ซึ่งช่วยให้องค์กรเจริญก้าวหน้าและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นความสุขในที่ทำงานได้แก่ การสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ การได้ทำงานที่ดีและภูมิใจกับงานที่ตนทำ ได้ทำงานร่วมกับคนดีๆ รู้ว่างานที่ตนเองทำนั้นมีความสำคัญ การที่มีคนเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ การมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำความรู้สึกสนุกมีความสุขในที่ทำงานและมีความรู้สึกว่า ได้รับการกระตุ้นและเสริมพลังในการทำงาน
การทำงานอย่างมีความสุข (Happiness at the Workplace)ว่า คือ ภาวะในการทำงานที่พนักงานทุกคนรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน เป็นการทำงานหมือนกับไม่รู้สึกว่าได้ทำงานและผลงานที่ออกมานั้นมีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ทั้งในระดับพนักงานและองค์กร ประกอบด้วยปัจจัย 5 ประการ ดังนี้
1. ผู้นํา (Leaderships) หมายถึง ระดับผู้บริหารหรือหัวหน้างานในระดับองค์กรที่มีลักษณะสำคัญในการส่งเสริมหรือสร้างให้พนักงานภายใต้การปกครองเกิดการทำงานอย่างมีความสุข โดยผู้นําจะต้องมีลักษณะส่งเสริมและสร้างทีมงานภายใต้การบังคับบัญชา สร้างแรงจูงใจ สนับสนุน ความรู้สึกตระหนัก แรงปรารถนาในการทำงานอย่างสม่ำเสมอและจะต้องสร้างการสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างโปร่งใส อุทิศตนเองเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความรู้สึกที่ดี
2. ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (Friendships) หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์กันในที่ทำงานระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ในลักษณะของความผูกพันที่แน่นแฟ้นภายในกลุ่ม เมื่อกลุ่มให้การยอมรับซึ่งกันและกัน
3. ความรักในงาน (Job Inspiration) หมายถึง กิจกรรมหนึ่งที่บุคคลต้องปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ได้วางเอาไว้ โดยบุคคลที่ปฏิบัติกิจกรรมดังกล่าวมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมที่ตนเองได้ทำ
4. ค่านิยมร่วมขององค์กร (Organization’s Share Value) หมายถึง พฤติกรรมของคนในองค์กรที่ยึดถือเป็นพฤติกรรมร่วมและมีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กรนั้น
5. คุณภาพชีวิตในการทำงาน (Quality of Work Life) เป็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามด้าน คือ สภาพการทำงาน (Work Environment) การมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Participation) และ การคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ในการทำงาน (Humanization of Work) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อองค์กรและพนักงานในการที่จะหาจุดที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกัน เพื่อให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงที่สุด
หลักสูตร จิตสำราญ งานสำเร็จ (การทำงานอย่างมีความสุข) มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดในแง่บวกและสร้างสรรค์ เปิดมุมมอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานให้พนักงานสร้างความสุขจากตนเองก่อน ก่อนที่จะแสวงหาความสุขจากคนรอบข้างและจากองค์กร ตลอดจน ปลูกฝังความภาคภูมิใจ ความสำเร็จในระดับที่พนักงานควรจะพึงพอใจ เพื่อสร้างความพอเพียงในสิ่งที่ตนมี และพร้อมก้าวสู่การเต็มใจให้ เปิดใจรับความสุขจากเพื่อนร่วมงาน และองค์กรต่อไป
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมปรับทัศนคติในการทำงานร่วมกันของพนักงานให้มีความสุข
2.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน
3.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเห็นคุณค่าในตัวของตัวเอง เข้าใจความมุ่งหมายในการทำงาน เพื่อความสุขในชีวิต
4.เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนากระบวนการสื่อสารในการปฏิบัติงาน
รายละเอียดหลักสูตร
ส่วนที่ 1 จิตสำราญ
มุ่งเน้นการเรียนรู้ตนเอง เข้าใจตนเองก่อนจะเข้าใจผู้อื่น เพื่อลดความประหม่า เพื่อสร้างความคุ้นเคย ลดช่องว่างระหว่างวัย ตำแหน่ง บทบาทหน้าที่ทางสังคมพร้อมเปิดประตูใจ เปิดความคิด จนนำไปสู่กระบวนการของการเข้าถึงการเรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ถือเป็นโอกาสเสริมสร้างความเชื่อมั่น สร้างความภาคภูมิใจ และสร้างความรู้สึกประทับใจที่มีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกัน
นอกจากนี้ กิจกรรมจิตสำราญยังถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามแนวทางการบริหารจัดการความรู้ในองค์กรหรือ Knowledge Management เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความต้องการ ความคาดหวัง และความรู้สึกก่อนเข้าสู่กิจกรรมต่างๆอีกด้วย
ส่วนที่ 2 งานสัมฤทธิ์
มุ่งเน้นการเสริมสร้างการคิดอย่างเป็นระบบและยอมรับในความคิดเห็นระหว่างกัน ยอมรับความเป็นผู้นำ ผู้ตาม ตลอดจน เน้นการระดมสมองในการทำงานอย่างสมานฉันท์โดยมีเป้าหมายการเรียนรู้ในการสร้างจิตสำนึกรักองค์กร พัฒนาความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เพื่อให้บุคลากรขององค์กรได้เรียนรู้ปัญหาและการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกัน ตลอดจน แนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งมีโอกาสได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างสร้างสรรค์ และเสริมสร้างความรับผิด รับชอบร่วมกันผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ